9 ก.พ. – มูลนิธิเพื่อนหญิง เผยสถิติมีผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง ร้องเรียนให้ช่วยเหลือปีละกว่า 2,000 ราย แนวโน้มสูงขึ้นจากเหตุหลายปัจจัยทั้งความรัก ความกลัวและความอาย ทำให้หลุดออกจากวงจรไม่ได้ มองปัญหานี้เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังมีที่ต้องทนและไม่กล้าออกมาเปิดเผยอีกจำนวนมาก
นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง เปิดเผยว่าจากสถิติมีผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิ ขอคำปรึกษา และขอความช่วยเหลือปีละ 2 พันกว่าราย แนวโน้มตัวเลขสูงขึ้นทุกปี ซึ่งหลายครั้งผู้หญิงก็ไม่อยากจะเปิดเผยตัวเอง แค่อยากมาขอรับคำปรึกษาก่อนว่าพอจะมีหนทางใดบ้าง
โดยผู้ถูกกระทำแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ที่มากที่สุด 1.กลุ่มผู้หญิงที่ถูกสามี หรือแฟน ที่ใช้ชีวิตด้วยกัน ทำร้าย 2.กลุ่มเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายโดยพ่อแม่ และ 3.กลุ่มพ่อแม่ที่ถูกลูกทำร้ายร่างกาย โดยมากพบว่าลูกมีอาการจิตเวช ทำร้ายพ่อแม่สูงอายุ ปัจจัยสาเหตุของผู้กระทำที่พบคือมาจากการเลี้ยงดูของผู้ชายที่โตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมาก่อน ทำให้บ่มเพาะนิสัย การดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นอบายมุข ทำให้มีความเครียด แล้วมาลงกับครอบครัว โดยแต่ละปีจากข้อมูลนิธิฯ เก็บไว้ พบว่าปัจจัยจากการดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติด จนขาดสติมีการทำร้ายภรรยาจนเสียชีวิต ปีไม่ต่ำกว่า 20-30 คน และปัจจัยความเครียดจากเศรษฐกิจ ที่ไม่รู้จะลงกับใครก็มาลงกับคนในบ้าน
ผอ.มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ผู้หญิงไม่สามารถหลุดออกจากวงจรได้ มีหลายปัจจัย ทั้งจากความรัก คิดว่าสามีจะกลับตัวได้ ความอาย ไม่กล้าบอกใคร และความกลัว จากฝ่ายชายข่มขู่ว่าจะทำร้ายไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย และการที่ผู้หญิงไม่ได้หารายได้เอง บางคนต้องพึ่งพิงรายได้จากสามี ทำให้ตัดสินใจยากที่จะออกมาจากความรุนแรง เป็นต้น
ความช่วยเหลือที่ผ่านมา มูลนิธิได้ให้คำปรึกษาให้ผู้หญิงตั้งสติ ให้กำลังใจ และให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน มีศูนย์ช่วยเหลือสตรีที่พร้อมช่วยทั้งรัฐและเอกชน มีกฎหมายที่พร้อมคุ้มครองผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ยอมรับว่าหลายคนก็ไม่ง่ายที่จะออกมาได้ โดย 80% ที่ร้องเรียนเข้ามา สามารถหลุดออกจากวงจรได้แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังทนอยู่ เปรียบปัญหานี้เหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่โผล่ออกมาแค่เพียงยอดเท่านั้นแต่ยังมีคนที่เจอปัญหาเดียวกันแต่ยังไม่ปรากฏตัวอีกจำนวนมาก ยกกรณี “ดิว อริสรา” ที่เพิ่งออกมาเปิดเผย หลังจากผ่านเวลาไปนานกว่า 3 ปี ก็เป็นสิ่งสะท้อนได้ว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ต้องทนอยู่กับปัญหานี้และไม่กล้าที่จะเปิดเผยออกมา
ผู้ใดที่พบเห็นการทำร้ายร่างกาย ไม่มีคำว่าเรื่องในครอบครัว หากมีการใช้ความรุนแรง สามารถแจ้งได้ทันที ทั้งตำรวจ 191, หน่วยงานเฉพาะ พม. 1300 หรือมูลนิธิเพื่อนหญิง 025131001 จะมีทีมที่พร้อมช่วยเหลือ มีบ้านพักพิงฉุกเฉินให้ออกมาจากจุดนั้นก่อนได้ มีการให้ความช่วยเหลือกฎหมาย และกองทุนช่วยเรื่องอาชีพ เป็นต้น และย้ำอยากฝากข้อมูลไปถึงผู้หญิงว่าหากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำร้ายไม่ต้องทน ยังมีหนทางที่สามารถแก้ไขปัญหา การอดทนที่ต้องอยู่ในภาวะความรุนแรงต่อไปก็จะเจอกับความรุนแรงที่มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย