7 ก.พ. – สถาบันโรคผิวหนัง เผยฝุ่นละอองในอากาศเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลกและกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของไทย โดยพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ฝุ่นขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัด ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากนี้นอกจากจะทำให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผิวหนังด้วย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนังด้วยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่าง ๆและนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ การศึกษาในประเทศเยอรมนีและประเทศจีน พบว่าการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นเวลานานมีผลทำให้ผิวเสื่อมชรา โดยพบการเกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้าและการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้น. -สำนักข่าวไทย