รพ.ราชวิถี 27 ธ.ค.- กรมการแพทย์ แนะกลุ่มเสี่ยง สูงวัย โรคเรื้อรัง มะเร็ง HIV ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB เพื่อสร้างภูมิป้องกันโควิดนานถึง 6 เดือน พร้อมคาดหลังปีใหม่ยอดติดเชื้อพุ่ง ขณะที่กรมควบคุมโรคเร่งสำรวจตัวเลขคนป่วยรอบ 2 แต่พบอาการน้อย
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดงานรณรงค์การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long -acting antibody (LAAB) ที่ รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่ง ว่า ขณะที่ได้มีการขยายการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ให้ครอบคลุมมากขึ้น ได้แก่ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ที่ได้รับยากดภูมิ, ผู้ป่วยโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา หรือมะเร็งอวัยวะ ที่เพิ่งหยุดการรักษาภายใน 6 เดือน, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน, ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนโควิด เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน, ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รับวัคซีนโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน รวมถึงผู้ที่กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยสามารถติดต่อขอรับวัคซีนได้ในสถานพยาบาลที่ตนเองมีประวัติการรักษา ซึ่งเมื่อรับวัคซีนแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิดได้ถึง 80% และมีภูมิคุ้มกันในร่างกายอยู่นานถึง 6 เดือน
นพ.วีรวุฒิ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ไปแล้ว 26,000 คน โดยมีการเตรียมภูมิคุ้มกันสำเร็จเพียงพอถึง 250,000โดส สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันนี้ 1 คน จะมี 2 ชนิด ขนาดยารวม 300 มก. และจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกชนิดละข้าง ๆ ละ 1.5 มล ยืนยันวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้คาดการณ์ว่าหลังปีใหม่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นโดยขณะนี้ยังขอแนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ DMHTT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเริ่มพบผู้ติดเชื้อรอบ 2 มากขึ้น ทราบว่าขณะนี้กรมควบคุมโรคกำลังเร่งสำรวจถึงตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อรอบ 2 ซ้ำ แต่พบส่วนใหญ่มีอาการน้อยมาก ส่วนอัตราครองเตียงของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้พบแค่ร้อยละ 12 ซึ่งยังมีปริมาณเตียงเหลืออีกจำนวนมาก. -สำนักข่าวไทย