กรุงเทพฯ 16 ต.ค. – กรมอุตุฯ เตือนภาคใต้ช่วงนี้ยังมีตกหนักถึงหนักมาก จับตาพายุ “เนสาท” อาจทำให้ฝนตกหนักในภาคอีสาน สัปดาห์หน้า ส่วนฤดูหนาวปีนี้จะหนาวนานและหนาวมากกว่าปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนนี้
ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยถึงสภาพอากาศในช่วงนี้ว่า ผลกระทบจากพายุ “เซินกา” ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะสลายตัวไปแล้ว แต่ในพื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีฝนตกชุกค่อนข้างหนาแน่น เนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่าน และลมมรสุมยังมีกำลังแรงอยู่ จึงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนจะมีพายุลูกอื่นๆ พัดเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้อีกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
ส่วนสภาพอากาศในช่วง 7 วันข้างหน้า ยังต้องจับตาพายุโซนร้อนกำลังแรง “เนสาท” บริเวณตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 19-20 ตุลาคม หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว อาจมีผลกระทบทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคอีสาน
โดยสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ประเทศไทยตอนบนอากาศจะหนาวเย็นลง เฉพาะวันที่ 16-18 ตุลาคมนี้ ภาคเหนือและภาคอีสาน อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาฯ ส่วนภาคกลาง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาฯ พร้อมย้ำว่าฤดูหนาวในปี 2565 จะหนาวนานและหนาวมากกว่าปีที่แล้ว อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 17-19 องศาเซลเซียส ซึ่งปี 2564 อุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส
สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าอุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ย 17-18 องศาเซลเซียส โดยอากาศหนาวจะปรากฏชัดเจนในช่วงเดือนธันวาคม 65-มกราคม 66 ซึ่งช่วงเดือนมกราคมจะหนาวที่สุด
ทั้งนี้ เงื่อนไขในการเข้าสู่ฤดูหนาวมี 3 ปัจจัย คือ อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ยทั้งประเทศต้องอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตอนบน, ระดับของลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน นั่นคือลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาวและลมเย็น เกิดขึ้นต่อเนื่องแล้วหรือยัง และลมตะวันตกพัดปกคลุมประเทศไทยแล้วหรือยัง สุดท้ายการกระจายและปริมาณฝนที่ตกในประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างชัดเจนแล้วหรือยัง หากเข้าสู่ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว
อย่างไรก็ตาม อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีนี้ เกิดจากพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” และพายุโซนร้อน “โนรู” ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าค่าปกติถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยปีนี้ (1 ม.ค.-ปัจจุบัน) ไทยมีปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,691.2 มม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 1,356 มม. -สำนักข่าวไทย