27 เม.ย. – พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล โดยคณะสงฆ์ฝ่ายภูฏานและไทย



วันที่ 26 เมษายน 2568 วันที่สอง ของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ในช่วงเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดอร์เดนมา เพื่อร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล โดยคณะสงฆ์ฝ่ายภูฏานและคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายละ 74 รูป





ประเทศไทยและภูฏาน มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญที่หล่อหลอมสายใยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และมีวิถีแห่งศรัทธาที่น่าสนใจ ชาวไทยส่วนใหญ่ยึดมั่นในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ที่เน้นการปฏิบัติตน ตามหลักธรรมวินัย



ในขณะที่ชาวภูฏานมากกว่าร้อยละ 75 ศรัทธาในศาสนาพุทธแบบวัชรยาน นิกายดรุกปา ที่ใช้การปฏิบัติพิธีกรรม พิธีกรรม และบำเพ็ญภาวนา ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และความแตกต่างอีกประการคือ บทบาทของศาสนาในการปกครองของภูฏาน ที่มีการแต่งตั้ง “เจ เคนโป” (Je Khenpo) เป็นประมุขสงฆ์และร่วมบริหารราชการแผ่นดินด้วย แม้จะมีวิถีแห่งศรัทธาที่ต่างกันอยู่บ้าง ถึงกระนั้นไทย-ภูฏาน ก็ยังสามารถร่วมมือกันในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้านดั่งเป็นญาติมิตรเสมอมา





ต่อจากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน พระองค์ที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี





ช่วงบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการหลวงเดเชนโชลิง เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงของไทย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภูฏาน รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์



ไทยและภูฏานมีความร่วมมือด้านเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 นับเป็นเวลากว่า 23 ปี ประเทศไทยได้ส่งนักวิชาการไปสนับสนุนจัดทำแปลงวิจัยทดลองปลูกไม้ผล จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ กีวีฟรุต พีช สตรอว์เบอร์รี และเสาวรส ต่อมาได้ขยายความร่วมมือไปสู่สาขาวิชาการอื่น ๆ ได้แก่ การเพาะปลูก การประมง การพัฒนาที่ดิน และการปรับภูมิทัศน์ และจัดตั้งโครงการหลวงของราชอาณาจักรภูฏานขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2555 เพื่อให้ความรู้และฝึกทักษะแก่เจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงภูฏาน ให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรในระยะยาวต่อไปได้



ผลสำเร็จภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงของไทยและภูฏานในระยะแรก คือ ช่วยลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยความร่วมมือยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตและเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาความสามารถวิชาชีพของเกษตรกรเยาวชนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อการร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน


ต่อมาในตอนเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน และภริยา เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ โรงแรมที่ประทับ.-211-สำนักข่าวไทย