อุตรดิตถ์ 28 พ.ค.- ไอเดียเเจ่ม! ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จ.อุตรดิตถ์ นำเปลือกทุเรียน และผลทุเรียนที่ร่วงไปตากแห้ง มาผลิตเป็นถ่านชีวภาพ นำกลับไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน สู้ภัยแล้ง และลดปัญหาขยะ
ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ 10 ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นายชยพล รังสฤษฎ์นิธิกุล ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์ สาธิตการเผาถ่านไบโอชาร์จากเปลือกทุเรียน และผลทุเรียนที่ร่วงหล่น โดยเกษตรกรเก็บรวบรวมตากแดดให้แห้ง ผลิตเป็นถ่านชีวภาพ นำกลับไปใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน สู้ภัยแล้ง และลดปัญหาขยะผลผลิตทุเรียนลับแล ออกสู่ตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เฉพาะสมาชิกแปลงใหญ่ทุเรียนเมืองลับแล ปีนี้ทั้งหมอนทอง หลง-หลินลับแล ประมาณ 625 ตัน หรือ 625,000 กิโลกรัม ออกสู่ตลาด แต่ทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์คาดปีนี้มีผลผลิตทุเรียนเกือบ 3 หมื่นตัน
อย่างไรก็ตามทุเรียน 1 กิโลกรัม จะเป็นเปลือก 2 ส่วน เนื้อที่รับประทาน 1 ส่วน จึงทำให้มีขยะ หรือปัญหาที่พบคือ มีการนำเปลือกทุเรียนทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ชาวสวนทุเรียนลับแล จึงพยายามศึกษานำเปลือกทุเรียนกลับคืนสู่สวนทุเรียน แบบก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการผลิตเป็น “ถ่านชีวภาพ หรือถ่านไบโอชาร์เปลือกและผลทุเรียน” โดยเลือกเผาในเตาทรงกระสวย ทรงที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ การเผาไหม้ได้ง่ายที่ความร้อน 400-500 องศาเซลเซียส ไม่สร้างมลภาวะ จะได้ถ่านจากเปลือกทุเรียนคุณภาพดี ทั้งนี้เปลือกทุเรียน รวมไปถึงผลทุเรียนที่ร่วงหล่นชาวสวนจะเก็บรวบรวม ตากให้แห้ง เพื่อนำมาทำถ่านทุเรียน
ถ่านจากเปลือกทุเรียนที่ได้ มีธาตุอาหารหลักที่จำเป็นของพืชอยู่ในระดับสูง มีความพรุนสูง บำรุงฟื้นฟูดิน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน เพราะลักษณะความเป็นรูพรุนของถ่าน ทำหน้าที่กักเก็บน้ำนาน เมื่อดินอุดมสมบูรณ์ หน้าแล้งดินยังมีความชุ่มชื่น ประกอบกับทุเรียนลับแลปลูกตามภูเขา ทำให้ป่าเขียวขจีตามไปด้วย และส่งยังทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย