สมุทรสงคราม 16 ก.ค. – อดีตเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง 20 ไร่ เจอปลาหมอคางดำระบาด กินกุ้งหมดบ่อ ขาดทุนยับ ต้องหันมาเก็บขวดขายประทังชีวิต
จากข้อมูลพบว่า จ.สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดแรกที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ และลุกลามไปหลายจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก กระทั่งล่าสุดชาวบ้านเริ่มพบในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงได้รับความเดือดร้อน เริ่มระบาดครั้งแรกที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประมาณ ปี 2554 ชาวบ้านพูดกันปากต่อปากว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งนำปลาพันธุ์นี้เข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในพื้นที่ ซึ่งในช่วงนั้นปลานิลและปลาทับทิมตายจำนวนมาก จึงหาวิธีแก้ปัญหา และทดลองนำ “ปลาหมอคางดำ” จากทวีปแอฟริกา มาช่วยพัฒนาสายพันธุ์ หวังให้เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่กลับเป็นปัญหาในขณะนี้ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา และร่วมมือกับชาวบ้านอย่างจริงจัง หรือกำหนดให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ จับมือกับบริษัทใหญ่ต้นเหตุให้มาร่วมรับผิดชอบ เพราะนำเข้ามาแล้วละเมิดสิทธิชาวบ้าน ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ด้านนายรื่น อดีตเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้ง วัย 77 ปี ชาว ต.แพรกหนามแดง ถึงขนาดต้องถอดใจเลิกเลี้ยงกุ้งที่ยึดเป็นอาชีพมากว่า 50 ปี และหันมาเก็บขวดขาย เพื่อประทังชีวิต ก่อนหน้านี้เช่าบ่อเลี้ยงกุ้งกว่า 20 ไร่ ก็มีรายได้ดี แรกๆ มีปัญหาน้ำเสียบ้างบางช่วง ก็ยังพอมีช่วงเวลาที่จับกุ้ง จับปลา สร้างรายได้ แต่มาระยะหลัง ปลาหมอคางดำเริ่มระบาดหนัก วิดบ่อทีไรได้แต่ปลาหมอคางดำ นับวันเงินทุนก็จมลงเรื่อยๆ สู้อยู่หลายปี สุดท้ายก็ยอมถอดใจ. – สำนักข่าวไทย