รัฐสภา 21 ก.ค.-“อมรัตน์” อภิปรายชี้ “กลาโหม” ล็อกผู้รับเหมาก่อสร้าง เชื่อมีค่าน้ำร้อนน้ำชา ให้กระจก “บิ๊กตู่” ไว้ส่องสะท้อนตัวเอง ด้าน นายกฯ สวนทันควันไม่ค่อยได้ใช้กระจก กล่าวหาแรงก้าวล่วงสถาบัน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คนต่อเป็นวันที่สาม นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไม่กำกับดูแลงานของกระทรวงกลาโหม หลังพบว่าปล่อยให้มีการล็อกสเปกงานก่อสร้างในกองทัพ ทั้งโครงการก่อสร้างบ้านพักผู้บัญชาการกองทัพเรือ มูลค่า 65 ล้านบาท โดยกองทัพเรือได้ทำการประกาศราคากลางของโครงการดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ปรากฏว่ามี 3 บริษัทเข้าร่วมยื่นเสนอราคาแข่งขัน โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลงานดังกล่าวในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และได้ทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างในอีก 2 วันถัดมา คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 แต่เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมกลับพบว่าผู้รับเหมาได้เข้าทำการรื้อถอนบ้านพักเดิมและทำการสร้างใหม่แล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 หรือก็คือผู้รับเหมาได้เข้าทำการสร้างคฤหาสน์หลังใหม่ให้กับผู้บัญชาการกองทัพเรือล่วงหน้า 3 เดือนก่อนที่จะรู้ผลว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล
นางอมรัตน์ อภิปรายด้วยว่า นอกจากนั้นยังมีโครงการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่จะนำมาแทนที่อนุสาวรีย์พระยาพหลที่เพิ่งทำการรื้อถอนออกไป กรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก โดย บริษัท ไอยเรศ จำกัด ชนะการคัดเลือก ด้วยการเสนอราคา 59,873,500 บาท จากราคากลาง 59,993,500 บาท โดยโครงการดังกล่าวประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 และทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 27 สิงหาคม 2564 แต่เมื่อดูจากแผนที่ทางดาวเทียมพบว่ากองทัพได้ให้ผู้รับเหมาเริ่มทำงานไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
“แท้จริงแล้วเวลาที่มีโครงการก่อสร้างในกองทัพนั้น ได้มีการแอบล็อกผู้ชนะการประมูลกันก่อนเรียบร้อยแล้ว แบ่งกันล่วงหน้าว่างานนี้เป็นของใคร งานนั้นเป็นของใคร จากนั้นก็จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลไปตามลำดับชั้น แล้วค่อยทำการการประมูลหลอก ๆ กันอย่างที่เห็น” นางอมรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการอภิปรายฯ นางอมรัตน์ ได้มีการยกกระจกขึ้นระหว่างอภิปราย พร้อมระบุว่า “สุดท้ายที่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งนั้นคือกระจกบานนี้ เพราะท่านปิดคอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะสะท้อนความรู้สึกไปยังท่านได้ ตนอยากบอกว่ากระจกบานนี้เวลาที่ท่านชี้หน้าใครบอกว่าก่อความวุ่นวายก่อความไม่สงบให้มองที่กระจกบานนี้ เวลาที่ท่านเที่ยวชี้หน้าใครบอกไม่มีมารยาท ไม่รักชาติให้มองที่กระจกบานนี้ และเวลาที่ท่านว่าใครไม่อ่านประวัติศาสตร์ก็ให้ท่านมองที่กระจกบานนี้ ทั้งหมดคนคือในกระจก” นางอมรัตน์ กล่าว
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า “เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้ใช้โอกาสไปกราบสมเด็จพระสังฆราช เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชาถวายธูปเทียนพรรษา และตนก็ได้ขอแบ่งขอมอบให้กับทุกคนด้วย เนื่องในช่วงเวลาอันเป็นมงคลนี้ให้กับทุกคนด้วย เนื่องในช่วงเวลาอันเป็นมงคลนี้กับทุกคนทุกท่าน ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะรับได้รับไม่ได้ก็แล้วแต่ เพราะว่าทุกอย่างก็เป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับกรรมดี ทำกรรมไม่ดีก็คงปรากฏต่อไป ตนก็จะพยายามทำอย่างเต็มที่ทำให้ดีที่สุด แต่อาจจะไม่ดีในสายตาของท่าน ก็ไม่เป็นไร วันนี้ท่านบอกว่าชื่อของตนมีความหมายนู่นนี่ ก็ไปคิดเอาแล้วกันว่าคำว่า “ตู่กับเตี้ย” ความหมายเหมือนกันหรือไม่ คงไม่เหมือนกันหรอกนะ แต่ไปดูว่าประโยชน์อะไรใครทำมากกว่า ตนเห็นว่าท่านก็เคลื่อนไหวอยู่ข้างนอกตลอดเวลา ท่านบอกว่าท่านศึกษาประวัติศาสตร์ก็ดีครับ ท่านก็ศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนที่ดีไว้บ้าง ก็แล้วกันสิ่งที่ท่านทำหลาย ๆ อย่างก็ปรากฏแล้วว่าเป็นเรื่องของการเกี่ยวข้องกับการก้าวล่วงสถาบันของชาติ ซึ่งตนรับไม่ได้อยู่แล้ว และตนจำเป็นต้องพูด” นอกจากนี้นายกฯ ยังระบุ ถึงเรื่องกระจกด้วยว่า “ส่วนในเรื่องกระจก ผมไม่ค่อยได้ใช้กระจก”
ทำให้นางอมรัตน์ ได้ลุกขึ้นประท้วงขอใช้สิทธิ์พาดพิง โดยระบุว่า เมื่อสักครู่ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงตนว่า ก้าวล่วงสถาบันตรงไหน และข้อหามาตรานี้ผิด มีโทษร้ายแรง อยู่ดี ๆ จะมาปากพล่อยว่าคนอื่นอย่างนี้ได้อย่างไร อย่ามั่ว เที่ยวพูดตีขุมแบบนี้ ก่อนที่ชวนหลีกภัย ประธานในที่ประชุมจะปิดไมโครโฟนของนางอมรัตน์
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงอีกครั้งว่า เวลานางอมรัตน์ พูดอะไรมาทั้งหมด ตนก็ฟังได้ และท่านก็ฟังตนบ้าง ตนไม่ได้ว่าอะไรที่เกินความเป็นจริงเท่าไร ว่า ไปดูในคดีต่าง ๆ ก็มีอยู่หลายคดีเหมือนกัน ก็ไปเตรียมต่อสู้คดีเอาแล้วกัน
ทำให้นางอมรัตน์ ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้งว่า นายกรัฐมนตรีได้พาดพิงโดยขอให้ถอนคำพูดทั้งสองอย่าง โดยระบุว่า มาตรา 112 เป็นมาตราร้ายแรง จะมาเที่ยวป้ายให้ใครแบบนี้ได้อย่างไร นี่ก็เอาเด็กไปเข้าคุกไม่ยอมปล่อยไม่ให้ประกัน อย่ามั่ว ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พูดสวนกลับมาว่า “ผมไม่ได้ป้าย ผมไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับกระบวนการ” ทำให้นางอมรัตน์ ลุกขึ้นกล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีถอนคำพูด โดยนายกรัฐมนตรี ได้สวนกลับว่า “ผมไม่ถอน” ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ต้องปิดไมโครโฟนของนางอมรัตน์ อีกครั้ง และกล่าวว่า ขอให้ฟังประธาน โดยนายชวนกล่าวว่า เราอภิปรายเขาก็หนัก เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะต้องถอน โดยขอให้นายกรัฐมนตรี นั้นอภิปรายต่อ และตนคิดว่าดีที่สุดคือเราต้องระมัดระวัง.-สำนักข่าวไทย.