ทำเนียบรัฐบาล 14 มี.ค. – ศบค. กำหนดเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วยโควิดฉุกเฉินเพิ่มเติม สำหรับ UCEP Plus ขอประชาชนเห็นใจหากไม่ได้รับการติดต่อกลับจาก สปสช. ภายใน 24 ชม. แจงมีผู้ป่วยเข้าระบบกว่า 40,000 คน/วัน จับตาประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 18 มี.ค. เตรียมผ่อนคลายมาตรการ
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า วันศุกร์นี้ (18 มี.ค.) จะมีการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการพูดคุยใยหลายมาตรการ เพื่อรับมือสถานการณ์ โควิด- 19 สายพันธุ์โอไมครอน
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อระรอกที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 มีนาคม 2565 เป็นผู้ติดรายใหม่วันนี้ 22,130 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 983,520 ราย หายป่วยเพิ่ม 23,508 ราย รวมหายป่วยสะสม 788,794 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 225,889 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,363 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 453 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 69 คน รวมเสียชีวิตสะสม 2,080 คน ผู้ติดเชื้อในประเทศ 22,034 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 21,768 ราย จากการคัดกรองเชื้อโรคในชุมชน 267 ราย ในเรือนจำ 69 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 27 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 69 คน เป็นชาย 42 คน หญิง 27 คน เป็นคนไทย 68 คน เมียนมา 1 คน อายุระหว่าง 2 เดือน ถึง 99 ปี เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 71 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 26 ซึ่ง ศบค. ยังกังวล เพราะผู้ที่เสียชีวิตวันนี้ (14มี.ค.) มีถึง 61 คน ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และ 26 คน ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว ร้อยละ 83.3 เข็มที่ 2 ร้อยละ 78.8 เข็มที่ 3 ร้อยละ 32 ซึ่งยังมีผู้สูงอายุไทยกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ง่าย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือบุตรหลานพาผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีน โดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะได้กลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ได้อย่างสบายใจ
ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศวันนี้ (14 มี.ค.) สูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,060 ราย, นครศรีธรรมราช 1,268 ราย, ชลบุรี 1,117 ราย, สมุทรปราการ 934 ราย, นนทบุรี 757 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ป่วยกลับบ้าน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงใกล้เคียง กับผู้ติดเชื้อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ต่างกันที่ผู้ป่วยครองเตียงน้อยกว่ามาก เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนที่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำไปที่ประชาชน เมื่อมีประวัติ ไอ มีไข้ มีอาการในระบบทางเดินหายใจ หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
นอกจากการตรวจ ATK ด้วยตัวเองแล้วขอให้สังเกตบุคคลรอบข้าง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด ติดต่อที่สายด่วน หมายเลข 1330 สปสช. ซึ่งภายใน 6-14 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับและจับคู่สถานพยาบาลให้ แต่ก็ต้องขออภัย หากยังไม่ได้รับการติดต่อภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก เกิน 40,000 รายต่อวัน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยรอติดต่อกลับจาก สปสช. 1330 มีระเบียบเรื่องการประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สำหรับโรคไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับ ยูเซปพลัส ที่เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง ศบค. ขอความร่วมมือประชาชนที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว อาการไม่รุนแรง ให้เข้าระบบ 1330 ตามปกติ เพื่อสงวนเตียงสีเหลืองสีแดงไว้ สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องโทร 1669 และขอให้สถานพยาบาล ศึกษาคำว่า “ผู้ป่วยวิกฤต” ให้ดี เพราะกระทรวงสาธารณสุข มีการปรับหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น
ทั้งนี้มีการกำหนดเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับ UCEP Plus โดยผู้ป่วยตรวจ ATK ผล Positive หรือ RT-PCR ผล Positive ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิม หรือมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือ หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ หรือ Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่า 94% หรือมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุ มากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่คำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนัก เกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั๋งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยดับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่นๆ หรือตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก โดยให้ใช้หลักเกณฑ์นี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม เป็นต้นไป
“แม้จะมีผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ และเป็นไปได้ว่าในการประชุมใหญ่ ศบค.วันที่ 18 มีนาคมนี้ จะมีมาตรการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตตามปกติ ดำเนินเศรษฐกิจ ไปได้ แต่ก็ต้องเน้นย้ำอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัยกับตัวเราและคนรอบข้าง”พญ.อภิสมัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย