รัฐสภา 24 ส.ค.- กมธ.แก้รธน.หารือด่วนทบทวนเนื้อหาที่จะเข้าสู่วาระ2, 3 เสนอสภาขอถอนมาตราที่ไม่จำเป็น
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา เปิดเผยว่า กมธ.นัดประชุมด่วน ช่วงเช้าวันนี้(24 ส.ค.) เพื่อทบทวนเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่วาระพิจารณาของรัฐสภาในวาระสองและวาระสาม หลังจากที่มีกมธ.ทักท้วงการแก้ไขในมาตราที่ไม่มีความจำเป็น รวม“รวม 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 85,92,94 และ 105 อาทิ ประเด็นอำนาจ กกต. ในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ที่กรรมาธิการปรับแก้จาก 60 วันเป็น 30 วัน การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ กรณีเกิดการเลือกตั้งซ่อม เพราะเหตุทุจริตภายใน 1 ปี ,และบทเฉพาะกาล ให้รัฐสภาต้องปรับแก้กฎหมายประกอบการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแก้ไขมีผลใช้บังคับ แต่ยังคงบทเฉพาะกาล ที่หากระหว่างนี้มีการเลือกตั้งซ่อมระหว่างนี้ให้ใช้ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเดิม โดยจะใช้ระบบบัตร 2 ใบ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป รวมทั้ง ระหว่างนั้น 1 ปี หากมีการเลือกตั้งซ่อม ต้องคำนวณสัดส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ทุกพรรคการเมือง
“กมธ.นัดประชุมและทบทวนประเด็นดังกล่าวและเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะบัญญัติความดังกล่าวไว้ สำหรับการพิจารณาจะใช้มติของกมธ. ตัดสินให้ตัดออกจากเนื้อหาที่ส่งให้รัฐสภา เบื้องต้นคาดว่าไม่มีปัญหาใดในขั้นตอนนี้ ส่วนเหตุผลที่ถอนออก ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทยที่เตรียมประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน” นายไพบูลย์ กล่าว
ส่วนการถอนเนื้อหาดังกล่าวออกจะตัดประเด็นที่จะนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่หากถอนเนื้อหาออกจะทำให้ไม่มีประเด็นที่นำไปสู่การอภิปรายในสภาฯ แต่หากผู้ใดที่จะยื่นตีความการแก้ไขต่อศาลรัฐธรรมนูญยังทำได้หลังลงมติวาระสาม แต่ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา หรือ 74 เสียง ดังนั้นหากพรรคก้าวไกลจะยื่นต้องขอเสียงจากพรรคภูมิใจไทยช่วย
เมื่อถามว่าการแก้ไขก่อนประชุม ถือว่าเสียหน้าหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเป็นฝ่ายทำกฎหมายต้องรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เมื่อมีกมธ.ทักท้วงหลายคนจึงจัดประชุมกมธ.ให้ และผลการแก้ไขเปลี่ยนแปลง สามารถยื่นเป็นเอกสารให้ประธานรัฐสภาได้ทันก่อนการพิจารณา
ส่วนการแก้ไขด่วนของกรรมาธิการครั้งนี้ จะทำให้การพิจารณาราบรื่นขึ้นหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ มั่นใจว่า แม้กรรมาธิการฯจะไม่แก้ไข ก็จะผ่านการพิจารณา แต่เมื่อกรรมาธิการฯ แก้ไขแล้ว ก็จะทำให้การพิจารณาลดข้อถกเถียงไปมากขึ้น
นายไพบูลย์ มั่นใจว่า รัฐบาลจะอยู่ครบวาระ และยังไม่มีเหตุยุบสภา จึงจะไม่เกิดสุญญากาศทางการเมืองจากกรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายประกอบยังไม่มีการแก้ไข และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายประกอบการเลือกตั้งเพิ่มเติม ก่อนปิดการสมัยประชุมนี้