ทำเนียบ 30 พ.ค. – ศบค.ห่วงคนลักลอบเข้าชายแดนไทย หลังมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ขอความร่วมมือมหาดไทยเฝ้าระวังเข้ม ขณะที่ตลาดห้วยขวาง พบติดเชื้ออีก 78 ราย รวม 47 คลัสเตอร์เฝ้าระวังใน กทม. ระดมตรวจให้ครบ 486 ตลาด เตรียมคัดกรองเชิงรุก 30 แคมป์ก่อสร้าง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก มีความเป็นห่วงว่าอาจมีคนไทยพยายามเข้าเมืองทางชายแดนจังหวัดต่างๆ หลังประเทศมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 1-14 มิถุนายนนี้ ซึ่งจังหวัดที่ ศบค.มีความเป็นห่วง คือ จ.สงขลา จ.ยะลา จ.นราธิวาส และจ.สตูล จึงต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด บูรณาการกับฝ่ายความมั่นคงในการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมือง จะเห็นว่าเมื่อการติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีการล็อกดาวน์ทำให้คนไทยในประเทศนั้นๆ มีความลำบากในการดำเนินชีวิตและมีความพยายามจะหาทางกลับเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่ง ศบค.ไม่ได้ห้ามการเข้าประเทศไทย แต่ขอความร่วมมือให้เดินทางกลับมาในช่องทางที่ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่ระบบการกักกันควบคุมโรคต่อไป
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันนี้ (30พ.ค.) จำนวน 754 ราย มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ไม่มีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังทั้งสิ้น 47 คลัสเตอร์ ใน 28 เขต ในส่วนของตลาดห้วยขวาง เขตห้วยขวาง ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 78 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค. 2564) โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดคุยว่า เขตที่ยังไม่พบการติดเชื้อก็ต้องลงพื้นที่สำรวจตลาดที่มีการเฝ้าระวัง โดยภาพรวมตลาดที่จดทะเบียนทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 486 ตลาด ตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้ว 28 ตลาด และจะระดมตรวจให้ครบด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งมีแผนจะตรวจให้ได้ 30,300 ราย รวมถึงตรวจสุขาภิบาล มาตรการสาธารณสุขด้วย
สำหรับกรณีแคมป์ก่อสร้างใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจมีทั้งสิ้น 409 แคมป์ บางเขตมีมากกว่า 20 แคมป์ บางแคมป์คนงานเกิน 1,000 คน อาทิ เขตบางกะปิ, เขตบางเขน, เขตลาดพร้าว, เขตห้วยขวาง เป็นต้น พร้อมเน้นย้ำเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน และยังมีแผนลงตรวจอีก 30 แคมป์ก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1-10 มิ.ย. 2564 เป็นการคัดกรองเชิงรุกด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลายจากแรงงาน รวมถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด จุดสัมผัสร่วม และมาตรการสาธารณสุขอื่นๆ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานต่างๆ ที่อยู่ในประเทศ เมื่อเจ็บป่วยควรได้รับการรักษาตามมาตรฐาน แม้บางคนไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย แต่ด้วยหลักมนุษยธรรม เมื่อป่วยก็ควรได้รับการดูแล เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษา ชุมชนจะไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงแรงงานได้รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.เป็นต้นมา มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายมาขึ้นทะเบียนถึง 416,769 ราย และยังตกค้างอยู่ประมาณ 200,000 ราย เฉพาะ กทม.มีถึง 70,000 ราย ถ้าเป็นไปได้ขอความร่วมมือนายจ้างให้นำแรงงานเหล่านี้มาขึ้นทะเบียน ให้ได้รับการดูแลสุขภาพและเข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพที่ควรจะได้รับ.-สำนักข่าวไทย