รัฐสภา 5 พ.ย.-“ชวน” เผยกรรมการสมานฉันท์ยังไม่เกิด เพียงคุยอดีตนายกฯ รับฟังความเห็นและยังไม่ได้คุย “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ย้ำการเข้าร่วมต้องอาศัยความสมัครใจ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่ได้มีการตั้งขึ้นมา โดยขณะนี้เป็นการติดต่อกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์และผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายคนให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และที่มาของคณะกรรมการปรองดองนั้น เป็นการเสนอมาจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หากปฏิเสธไม่รับมา ก็เหมือนกับการมองข้ามความสำคัญของการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญ คือ จะต้องมองปัญหาจากสภาพความเป็นจริงว่าจะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความมั่นคง ไม่วุ่นวายมากเกินไป ลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน ซึ่งยอมรับว่าไม่มีอะไรที่แก้ได้ทั้งหมด 100% เพราะการเมืองย่อมมีความเห็นแตกต่าง แต่เราไม่ต้องการเห็น ความขัดแย้งรุนแรง มีการประทุษร้าย ซึ่งเชื่อว่าคนรุ่นก่อน ๆ มีประสบการณ์
“ไม่มีอะไรแก้ได้ร้อยทั้งร้อย แต่ถ้าเราลดลงมาได้ ก็เป็นประโยชน์ คนรุ่นก่อนก็มีความขัดแย้ง เช่น มาจากการเลือกปฏิบัติ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การใช้สื่อวิทยุชุมชนให้ร้ายไปถึงสถาบัน หรือบุคคล หรือขัดแย้งกันถึงที่เข้าจังหวัดไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนและแก้ไข เพื่อรองรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลง” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า การจะเชิญบุคคลใดมาเป็นกรรมการนั้น ไม่ได้ง่าย เพราะผู้ใหญ่ที่ตนคุยด้วยไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ แต่บุคคลเหล่านี้เห็นด้วยกับการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งรายละเอียดต้องหารือกันอีกครั้ง
ส่วนความจำเป็นที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามานั่งด้วยนั้น นายชวน กล่าวว่า ต้องสมัครใจ ที่ตนเชิญนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายค้านมาพูดคุย เพราะขณะนั้นฝ่ายค้านประกาศก่อนว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย จึงขอคำยืนยัน แต่นายสุทินบอกว่าขอดูแนวทางก่อน ซึ่งในวันนั้นเรื่องใหญ่ คือ ความเห็นของประธานวุฒิสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานวุฒิสภาให้ความเห็นในทางที่ไม่เคยทราบมาก่อน และทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ ลดลงไปมาก
“ในอนาคต หากมีคณะกรรมการสมานฉันท์แล้วจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ผมมีหน้าที่ว่าดูว่าจะเอารูปแบบอะไร จะคัดใครเข้ามาควรเอาคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นไปเป็นประธานเอง เราตั้งใจเอาคนที่มีความตั้งใจที่จะเห็นการปรองดอง แต่ใครที่ยื่นคำขาดมา ก็เป็นเรื่องเขาไป และเราก็จะทำงานในส่วนของเราไป ผมบอกเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าให้แยกระหว่างเรื่องการชุมนุมกับเรื่องอนาคต” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า การหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นได้หารือครบทุกคนหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า “ยังติดต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ซึ่งตนตั้งใจจะพูดกับทุกคน รวมถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ก็จะไปกราบเรียนในฐานะเป็นผู้ใหญ่และเป็นนายกรัฐมนตรีมาเช่นกัน แต่สำหรับนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นั้นต้องดูก่อนว่าสุขภาพไหวหรือไม่ แต่จะลองไปสอบถามดู เพราะรู้จักกับครอบครัวนายธานินทร์”
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า การเดินสายหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้น ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาฯ ด้วย ขณะเดียวกัน การจะมีคู่ขัดแย้งเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งขณะนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย
“เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์ร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ส่วนตัวได้โทรศัพท์ไปขออภัยต่อบุคคลที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้มีการต่อว่า โดยตนไม่ได้ตั้งใจจะประกาศชื่อพวกท่านเพื่อให้อีกคนนำชื่อท่านมาพูดในทำนองที่ไม่เหมาะสม และยืนยันว่าตนไม่เคยเชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาร่วมด้วยแต่อย่างใด
นายชวน กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะมีการหารือกันก่อน เพื่อกำหนดแนวทางในการลงมติที่อาจใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากการประชุมรัฐสภาไม่จบในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะประชุมต่อไปถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน หรือถ้าไม่เห็นด้วยกับการประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายน ก็จะต้องไปประชุมกันอีกครั้งในภายหลัง.-สำนักข่าวไทย