ทำเนียบฯ 18 ก.ย.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่-สำคัญ เน้นแก้ปัญหาทั้งระบบ เร่งจัดทำ Road Map โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับ EEC-การท่องเที่ยว มุ่งให้ประชาชนและเกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอทุกพื้นที่
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดภายลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2563 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 557 โครงการ ซึ่งดำเนินการแล้ว 31 โครงการ คงเหลือเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 จำนวน 526 โครงการ โดยมีการติดตามความคืบหน้า ผ่านทาง Application Thai Water Plan ซึ่งได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามความก้าวหน้าผ่านระบบออนไลน์บนฐานข้อมูลเดียวกัน และได้รับทราบความก้าวหน้าการขอใช้พื้นที่ป่า สำหรับพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ 1 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จ.แม่ฮ่องสอน
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าวว่า จากนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณปี 2565 ได้แก่ โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา เทศบาล นครราชสีมา , ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองพัทยา , สถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำ จ.ปัตตานี รวมถึงเห็นชอบโครงการของกรมชลประทานที่สำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ แม่ตาช้าง จ.เชียงราย และอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง
“พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้คณะทำงานฯ เร่งจัดทำ Road Map โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยตั้งเป้ากำลังผลิต 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นคงและลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำพื้นที่ EEC และการท่องเที่ยวได้ พร้อมทั้งขอให้ สทนช.และหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการต่าง ๆ เร่งรัดการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณและประโยชน์ที่ประชาชนและเกษตรกรจะได้รับ มุ่งให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่” พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ กล่าว
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ว่า ที่ประชุมฯ อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงน้ำปะปา จ.นครราชสีมา วงเงิน 1.3 พันล้านบาท โดยเป็นการดึงน้ำจากเขื่อนลำตะคลองมาใช้ 2.โครงการแก้ไขน้ำท่วมเมืองพัทยา วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการแก้ไขร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมือง 3.การอนุมัติมัติโครงการส่งระบบท่อปะปา จ. ปัตตานี วงเงิน 1.2 พันล้านบาท และอีก 3 โครงการเป็นโครงการของกรมชลประทาน ซึ่งมีการสั่งทบทวนโครงการผันน้ำประแส
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังหารือถึงพายุโนอึล โดยจะมีการประชุมหารือให้มีการตั้งศูนย์ในพื้นที่ติดตามพายุ โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบ ใน 24 จังหวัด ทั้งน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมลำน้ำ โดยเฉพาะที่ จ.ร้อยเอ็ด , จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี.-สำนักข่าวไทย