กรุงเทพฯ 31ส.ค.-เชาว์ จี้ กกต.ส่งศาลรธน.วินิจฉัย “เทพไท” พ้นส.ส.หรือไม่ กรณีศาลนครศรีธรรมราช พิพากษาตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ระบุเพราะการสู้คดียังไม่ยุติ ถามถ้าเทพไท ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ แต่ต้องพ้นส.ส.เพราะคำตัดสินของศาลชั้นต้น ใครจะรับผิดชอบ
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง รัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย กับคำตัดสินคดีส.ส “เทพไท” มีเนื้อหาระบุว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ขายฝันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่มีความย้อนแย้งในตัวหลายเรื่อง เช่น คดีทุจริต ปกปิดทรัพย์สินของนักการเมือง แทนที่จบที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอุทธรณ์ได้ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เหมือนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์คดีได้ ทำให้คดีอาญาทุจริตของนักการเมืองรวมถึงคดีปกปิดทรัพย์สิน มีการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกา 2 ครั้ง ผิดหลักการทางกระบวนการยุติธรรมที่ให้ศาลฎีกาคือศาลสูงสุด ทำให้เรื่อง ๆ เดียวมีคำพิพากษาศาลฎีกามาหักล้างคำพิพากษาศาลฎีกาซ้อนกันสองครั้ง ซึ่งไม่รู้จะยึดถือคำพิพากษาฎีกาฉบับไหนเป็นแนวดี เพราะผู้พิพากษาที่พิจารณาก็คือผู้พิพากษาศาลฎีกานั่นเอง โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีตามมาตรฐานสากล แต่ในบางมาตรา กลับเขียนไว้แบบไม่ให้ความเป็นธรรม และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการต่อสู้คดี หนึ่งในนั้นคือ ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้คือ มาตรา 96 (2) มาตรา 98 (4)และมาตรา 101(6) ที่กำหนดให้สถานะภาพส.ส.สิ้นสุดลง ซึ่งเรื่องนี้มีการหยิบยกเอาคดีของนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่าสิ้นสภาพความเป็นส.สแล้ว เนื่องจากศาลชั้นต้น พิพากษาให้ตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ผมมองว่าการโยงเอาเรื่องข้อต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ตามมาตรา 96 (2) มาเป็นข้อห้ามตามมาตรา 98(4) และส่งผลให้สิ้นสภาพส.ส.ตามมตรา 101(6) ยังไม่ชอบด้วยเหตุผลและหลักแห่งความเป็นจริงเพราะมาตรา 96(2) เป็นการห้ามบุคคลไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ไม่อาจใช้บังคับได้กับการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว เมื่อนายเทพไท ผ่านการเลือกตั้งมาจนได้เป็นส.ส.แสดงว่านายเทพไทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 96(2) แล้ว จะนำผลของคดีนี้ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่สมบูรณ์แล้วย้อนหลังไม่ได้ ขัดต่อหลักของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 29
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ต่อไปว่า มีคำถามให้น่าคิดว่าในอนาคต หากศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตัดสินว่านายเทพไทไม่มีความผิด ใครจะเยียวยาความเสียหาย หรือจะให้นายเทพไทกลับสู่สถานะเดิมได้อย่างไร แม้นักการเมืองจะถูกจัดว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่มีความพิเศษกว่าประชาชนทั่วไป จึงต้องมีกฎหมาย มาควบคุมที่เข้มงวดมากกว่า แต่กฎหมายนั้นต้องเป็นธรรมและไม่ขัดต่อหลักแห่งความเป็นจริงด้วย เรื่องนี้กกต. ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อชี้ขาด เพราะเรื่องการสิ้นสภาพส.ส ตามมาตรา 101 (6) ที่โยงเอาความผิดตามตรา 96(2)เข้าข่ายกฎหมายที่เขียนโดยขัดหลักนิติธรรมและขัดกันเองแห่งรัฐธรรมนูญ
“ผมเห็นด้วยกับการวางมาตรการที่เข้มข้นในการคัดกรองคนเข้าสู่การเมือง แต่ขอย้ำอีกครั้งว่ากติกาต้องเป็นธรรม จะอ้างว่าการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นโทษทางการเมือง ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด ก็ต้องใช้บังคับกับกรณีที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง ไม่ใช่ย้อนหลังไปลงโทษ ซึ่งมีผลเสมือนกับการประหารชีวิตทางการเมือง ให้เขาต้องพ้นสถานภาพความเป็นส.ส. ทั้ง ๆ ที่เขามีคุณสมบัติครบถ้วนมาแล้ว ผมให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบชื่อเทพไท เพราะโดยส่วนตัวก็ไม่ได้สนิทสนมกัน แต่เห็นว่าในเชิงหลักการแล้วเรื่องนี้ขัดหลักนิติธรรมแถมยังขัดกันเองของกฎหมาย แม้ผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นใครก็ต้องทำกฎหมายให้เป็นบรรทัดฐาน” นายเชาว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย