ศาลปกครอง 18 ส.ค.-เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเป็นผู้ร้องสอด หลัง “บริษัท ซินเจนทา” ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตพาราควอตฟ้องรัฐออกประกาศแบน 3 สารเคมีทำเสียหาย หวังใช้ข้อมูลโต้แย้งในคดี เผยเกษตรกรขีวิตดีขึ้นหลังไม่พึ่งสารอันตราย
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจำกัดศัตรูพืช มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี นำโดยน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเป็นผู้ร้องสอด ในคดีที่บริษัทซินเจนทา คอร์ป โปรเทคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารพาราควอตที่ใหญ่ที่สุดในโลกยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและพวกรวม 5 รายต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่แบนสารพาราควอตและคอลไพริฟอสที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา
น.ส.ปรกชล กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่า บริษัทซินเจนทาฯ ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาลปกครอง ทำให้ทางเครือข่ายเห็นว่าจำเป็นต้องเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการสู้คดีของหน่วยงานรัฐ และปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายดังกล่าว ซึ่งบริษัทซินเจนทาฯ เป็นบริษัทที่ผลิตสารเคมีรายใหญ่ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้งที่ประเทศนี้ยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวมากว่า 20 ปี แต่บริษัทกลับมาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศแบนสารเคมีดังกล่าว
“สารเคมีทั้งสองตัวที่ยกเลิกนั้นเป็นสารอันตราย และกว่า 60 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตสารก็ยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเหตุผลหลักเป็นสารที่มีพิษ เกษตรกรในประเทศไทยไปฉีดพ่นสารนี้ทั้งที่เจือจางแล้วแต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ จึงไม่สมควรนำมาใช้ แม้จะมีความพยายามป้องกันแล้ว ไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ และที่สำคัญสารตัวนี้มีความสัมพันธ์ต่อการก่อโรคพาร์กินสัน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบสารตกค้างในพืชผัก แม้การใช้สารเป็นเพียงการฉีดพ่นวัชพืช สารนี้จึงมีพิษสูงโดยเฉพาะกับระบบประสาท เด็กทารกที่ได้รับสารนี้ตั้งแต่อยู่ในท้องผ่านการรับประทานผักผลไม้ของมารดาที่ปนเปื้อนสารนี้ จะทำให้มีปัญหาพัฒนาการทางสมอง และจะมีผลกระทบเรื้อรังไปตลอดชีวิต สารทั้งสองตัวนี้จึงควรต้องถูกแบนตลอดไป” น.ส.ปรกชล กล่าว
น.ส.ปรกชล กล่าวว่า หลังจากรัฐประกาศยกเลิกการใช้สองสาร ทางเครือข่ายลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากไม่ได้พึ่งพาสารนี้อยู่แล้ว ผลสำรวจที่ออกมาเกษตรกรเห็นด้วยกับการยกเลิกสารดังกล่าว แต่ในพืชผักบางประเภทยังต้องการการช่วยเหลือจากภาครัฐเรื่องสารทดแทนอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายพยายามจะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล
นางนฤมล กล่าวว่า เรามีตัวอย่างของคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารพาราควอตในต่างจังหวัด และมูลนิธิฯกำลังช่วยเหลือเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นโรคที่เกิดจากผลกระทบของการใช้สารพาราควอต โดยผู้เสียหายที่เราช่วยเหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นโรคเนื้อเน่า จึงอยากฝากถึงประชาชน ขอให้ทุกคนรณรงค์เลิกใช้สารเคมีนี้เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายอัมรินทร์ กล่าวว่า การที่มาร้องสอดเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบสำนวน และร่วมจัดทำคำให้การ ข้อมูลเสนอต่อศาล โดยจะพยายามโต้แย้งด้วยการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการว่าสารดังกล่าวมีอันตราย เพื่อให้ศาลได้ข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน.-สำนักข่าวไทย