รัฐสภา 24 ก.ค.-กมธ.มั่นคงแห่งรัฐฯ ถกสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา “โรม” ถาม “แพทองธาร” ไม่มา-ไม่แจ้งเลยหรือ ด้าน “ชุติพงศ์” สงสัยทำไมไม่ให้ความร่วมมือ ขณะที่ “เพื่อไทย” ป้องกลัวบังคับใช้อำนาจเรียกแล้วมีคนร้องศาล ยันไม่ได้ปกป้องใคร ด้าน “ทูตรัศม์” ร่วมประชุมไม่นาน รีบกลับ กต. ด่วน เหตุ “ไทย-เขมร” ปะทะกัน
การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากรณีความขัดแย้ง ไทย-กัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ และกลไกการพูดคุย JBC และวาระพิจารณากรณีคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา

โดยสัปดาห์นี้ ที่ประชุมมีมติใช้อำนาจเรียกบุคคลให้มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีการมอบหมายให้ใครเข้าชี้แจงแทน , นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งว่าไม่มา แต่มอบหมายให้เลขาธิการสภาความมั่นคงเข้าชี้แจงแทน , นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งแจ้งว่าติดภารกิจเดินทางไปที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าชี้แจงแทน , พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงกลาโหม ในตอนแรกได้รับการประสานว่าจะมาด้วยตนเอง แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ขณะนี้ จึงไม่สามารถมาได้ และมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรมยุทธการทหารบก มาแทน
ขณะที่ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแล กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มาแทน , เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมายรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงแทน , พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) มอบหมายผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมเทคโนโลยีมาแทน แต่ไม่มา จึงมอบให้รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมเทคโนโลยี มาแทนอีกทอดหนึ่ง , ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี , ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มอบหมายผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้อำนวยการมูลนิธิอิมมานูเอล นอกจากนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังได้มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมด้วย
โดยช่วงเริ่มการประชุมฝ่ายเลขาฯ ได้ชี้แจงถึงการใช้อำนาจเรียกตาม พ.ร.บ.ว่า กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลที่ได้รับหนังสือเรียกให้มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง กรณีหากมาไม่ได้ และมอบหมายบุคคลมาดำเนินการแทน ให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณา เพื่อมีมติว่า จะให้บุคคลที่ถูกมอบหมายดำเนินการแทนหรือไม่ ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการฯ มีมติให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายมาแสดงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯ แทน ให้ถือว่าความเห็นของบุคคลที่ได้รับมอบหมายนั้น เป็นคำแถลงหรือความเห็นของผู้ที่คณะกรรมาธิการฯ มีหนังสือเรียก
โดยนายรังสิมันต์ ได้ถามกับผู้ช่วยเลขานุการประจำกรรมาธิการฯ ว่า นางสาวแพทองธาร ไม่มาหรือ ไม่แจ้งหรือ แต่ผู้ช่วยเลขานุการฯ ตอบว่า “ไม่มา”
ต่อมา นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เราใช้ พ.ร.บ.อำนาจเรียก ผ่านสภา จากการรับฟังเหตุผลของผู้ที่ถูกเรียกมา อย่างกรณี นายมาริษ พลเอก ณัฐพล ก็พอเข้าใจเหตุผลได้อยู่ แต่ส่วนของนายภูมิธรรม ตนไม่แน่ใจว่า เรามีการเชิญเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาอยู่แล้ว แล้วทำไมรองนายกรัฐมนตรีถึงใช้วิธีการมอบหมายเช่นนี้ เนื่องจากปกติ ที่เรามีการเชิญไป ที่ผ่านมา ไม่ได้รับความร่วมมือในหลายๆ ครั้ง และเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือ เราจึงใช้คำสั่งเรียก ซึ่งก็ไม่เป็นผล
ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่า เราจะรับกับการไม่มีเหตุผล ในการชี้แจงเหตุผล ที่ไม่สามารถมาได้อย่างไรกับบางกรณี ส่วนตัวติดใจกรณีของนายภูมิธรรม และนางสาวแพทองธาร พร้อมกับสอบถามว่า ผู้ที่ไม่มาชี้แจงตามอำนาจเรียก จะต้องมาชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
“อย่างที่เห็น กรณีคลิปเสียง ปัญหาวิกฤติชายแดนไทย กัมพูชา มันดำเนินมาเรื่อยๆ จนวันนี้ตอนเช้าก็มีข้อพิพาทเรื่องการยิงอยู่ ในภาวะที่ไม่ปลอดภัยและเมื่อความขัดแย้งกัมพูชาเดินหน้ามาถึงตอนนี้ พื้นที่ของสภาผู้แทนราษฎรของเรา กรรมาธิการฯ ของเราพยายามอย่างสุดความสามารถใช้ทุกอย่างที่มีในการดึงเอาทุกองคาพยพมาพูดคุย เพื่อหาข้อสรุป เพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหา เสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อหาข้อกระจ่างให้กับสังคม แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมากลับไม่ได้รับความร่วมมือเลย ติดอยู่อย่างเดียว คือท่านรักษาการนายกฯ ภูมิธรรมให้เหตุผลว่าอย่างไร ในการที่จะไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง และผมไม่เข้าใจเลยว่ากรณีนางสาวแพทองธาร ใครจะมาชี้แจงได้ หรือถ้าชี้แจงไม่ได้แจ้งเหตุผลว่าอย่างไร ส่วนตัวผมติดใจตรงนี้” นายชุติพงศ์ กล่าว
จากนั้น นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ตนต้องการเป็นผู้ฟังมากกว่าที่จะเป็นผู้พูด กรณีนี้ก็เป็นคนใกล้ตัวของตน ก็อึดอัด
“ผมไม่มีหน้าที่จะมาปกป้องใคร กราบเรียนตรงไปตรงมา แต่ข้อเท็จจริงในการที่จะต้องแยกแยะ กรณีอย่างนี้ต้องมาพิจารณาร่วมกัน กรณีมอบหมายให้บุคคลใดมาทำหน้าที่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาทำหน้าที่แทนจะพูดได้เสียทุกเรื่อง เพราะการมอบหมาย มันมอบหมายได้ตามลำดับ ผมก็เรียนกฎหมายมาเหมือนกับหลายท่าน แต่บังเอิญกฎหมายอำนาจเรียกเราก็พิจารณากันหลายแง่หลายประเด็น ประเด็นนายภูมิธรรม ผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านมอบหมายในประเด็นใดบ้าง มอบให้เต็มที่หรือไม่ ถ้ามอบหมายลอย ๆ การที่จะตอบแล้วผูกพัน ผมก็ว่าลำบากอยู่เหมือนกัน สำหรับคนที่ทำหน้าที่ ซึ่งเขาก็ต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว ส่วนประเด็นนางสาวแพทองธาร ผมไม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ เพราะมันไม่อยู่ในสถานะที่จะต้องตอบ แต่การบังคับบุคคลภายนอก ไม่ใช่ข้าราชการ เราก็ได้พิจารณากันมากมาย ว่าเราสามารถทำได้หรือไม่ ผมไม่สามารถตอบได้และไม่ประสงค์ที่จะป้องกันใครด้วย เพราะเอาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” นายประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายสุธรรม แสงประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้กฎหมายอำนาจเรียก ถ้าทำโดยที่ไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน เกรงว่าจะมีการฟ้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรค และถึงแม้ผู้ได้รับเชิญได้มอบหมายให้คนมาชี้แจงก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการว่าจะต้องพิจารณาว่าจะรับฟังหรือไม่ ควรจะให้ชี้แจงหรือไม่ เพราะฉะนั้น เราต้องเคลียร์เรื่องนี้กันให้ดี เพื่อให้เกิดปัญหาตามมา เราไม่ได้ปกป้องใคร เราอยากใช้เครื่องมือให้ดีที่สุด
ต่อมานายขจิตร ชัยนิคม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราเรียกบุคคลธรรมดาก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราเรียกราชการก็ต้องใช้หลักราชการ หมายความว่ามีใครทำแทนได้ ไม่ใช่มอบไปเรื่อย ๆ วิธีพิจารณาเราต้องอิงหลักราชการ แต่ถ้าคนธรรมดา จะมองใครก็อยู่ที่การวินิจฉัย ตนห่วงว่าการปฏิบัติของแต่ละกรรมาธิการฯ ทั้ง สส.และ สว. จะมีหลักไม่เหมือนกัน ดังนั้น ตนเห็นว่าประธานรัฐสภาควรทำความเข้าใจกับทุกประธานคณะกรรมาธิการฯ ถ้าเร่งด่วน ใช้เลยก็ได้ แต่สุ่มเสี่ยงที่จะให้เกิดปัญหาเยอะ เราต้องมีหลัก
จากนั้น นายประยุทธ์ กล่าวว่า ตนขอทราบนิดเดียวว่าการมอบหมายแบบเป็นลายลักษณ์อักษร มอบหมายแบบเปิดหรือมอบหมายตามลำดับ แล้วกรรมาธิการจะพิจารณาว่าจะอนุมัติว่าการมอบหมายนั้น ทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้เราก็แจ้งไปว่าไม่รับ
ช่วงหนึ่ง นายรัศม์ ได้ขออนุญาตด่วน ด้วยท่าทีจริงจัง ระบุว่ามีเรื่องด่วนต้องไปประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย กัมพูชา ที่ตอนนี้ปะทะกันแล้ว โดยเป็นการประชุมด่วนที่กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะเดินออกจากห้องประชุมทันที
จากนั้น นายรังสิมันต์ ได้ขอมติว่าการที่บุคคลที่เชิญมา แล้วมีการมอบหมายนั้น จะอนุมัติของใครได้บ้าง ทำให้นายขจิตร เปิดไมค์ท้วงว่าตนรับไม่ได้ ต้องมีหลักก่อน ไม่ใช่มาถามเป็นคนๆไปโดยไม่มีหลัก ตนขออนุญาตไม่ร่วมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติต่อ ก่อนที่ผู้ช่วยเลขานุการฯ จะสรุปผลการลงมติว่า กรรมาธิการฯ 10 ท่าน มีมติให้ผู้ชี้แจง ชี้แจงแทนในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ประชุมมีมติให้ครั้งต่อไป พิจารณาเรื่องความขัดแย้ง ไทยกัมพูชา ตามเดิม โดยเรียกบุคคลมาเข้าร่วมประชุมตามเดิม.-316.-สำนักข่าวไทย