ศาลฎีกาฯ 4 ก.ค.-ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยาน 5 ปาก หมอ-พยาบาลราชทัณฑ์ คดี “ทักษิณ” ป่วยวิกฤติส่ง รพ.ตำรวจ ซักขั้นตอนการส่งตัว เรียกเพิ่มพยานอีก 3 ปาก ขอความร่วมมือห้ามเผยแพร่รายละเอียดไต่สวนแบบคำต่อคำ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนในคดีการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยคดีนี้มีอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ และมีนายทักษิณ เป็นจำเลย
โดยวันนี้ศาลไต่สวนพยาน 5 ปาก คือ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่, นพ.นทพร ปิยะสิน แพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ส่งตัวนายทักษิณ โรงพยาบาลตำรวจ, นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพ, นางสาวจิราพร มีนวลชื่น, นางสาวณิชามล มากจันทร์ พยาบาลวีชาชีพ ปฏิบัติการประจำเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งการไต่สวนพยานทั้งหมดใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
ศาลฯ สอบถาม พญ.รวมทิพย์ ในประเด็นการวินิจฉัยอาการป่วยของนายทักษิณ ว่า เข้าขายวิกฤตหรือไม่ โดยพญ.รวมทิพย์ กล่าวว่า ไม่ได้มีการเขียนใบส่งตัวไว้ล่วงหน้า เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย และอยู่ในกลุ่ม 608 ทุกคน จะมีการเขียนใบประสานส่งตัวไว้ล่วงหน้า เพื่อประกอบขั้นตอนการขออนุญาตจากพัสดี พิจารณาส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำในเวลาราชการ เพราะอาการป่วยของนายทักษิณ เกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และต้องได้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยแพทย์เฉพาะทาง
นพ.นทพร ซึ่งเป็นแพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่มีการส่งตัว นายทักษิณ ไปโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่าจำเหตุการณ์ไม่ได้ โดยได้รับการประสานจากพยาบาลเวรในสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับอาการของนายทักษิณ ซึ่งเห็นว่าอาการเข้าเงื่อนไขที่จะต้องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลภายนอก เพราะอาการนั้นเกินศักยภาพทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และยังกล่าวว่า ไม่ทราบว่า การวินิจฉัยของตนส่งผลให้นายทักษิณ ได้ออกมารักษาตัวนอกเรือนจำ
ส่วนนายธัญพิสิษฐ์ พยาบาลเวรเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้ตอบถึงขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ เข้าเรือนจำ ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามอาการของนายทักษิณ ที่ห้องแยกกักโรคทุก 4 ชั่วโมง กระทั่งเวลา 22.00 น. นายทักษิณ แจ้งว่า มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก ความดันตก ออกซิเจนปลายนิ้วลดลง จึงปรึกษาแพทย์เวรทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งแนะนำว่าให้ส่งโรงพยาบาลนอกเรือนจำ ก่อนจะแจ้งพัสดี พร้อมประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และการส่งตัวใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เมื่อมาถึงโรงพยาบาลตำรวจ มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มารับตัวโดยพยุง นายทักษิณ ขึ้นรถเข็น ส่วนตนไปทำเอกสารที่เวชระเบียน ก่อนเจ้าหน้าที่แจ้งให้นำเอกสารไปส่งชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพักผู้ป่วยและตนไม่ได้เห็นนายทักษิณ
ขณะที่สาเหตุที่ไม่ส่งตัวนายทักษิณ ซึ่งมีอาการวิกฤติ ไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่อยู่ใกล้เพียง 15 นาที ในระหว่างที่รอการประสาน ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจกว่า 2 ชั่วโมง เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น บอกเพียงว่า การเตรียมทีมจัดรถต้องใช้เวลา 30-1 ชั่วโมง และอยู่เวรคนเดียว ต้องเตรียมเอกสารประสานงานไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา
ส่วนพยานอีก 2 คน คือ นางสาวจิราพร และนางสาวณิชามล ที่มีชื่ออ้างอิงจากผู้บัญชาการเรือนจำว่า อยู่ในกระบวนการ ตรวจร่างกาย แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้เข้าไปตรวจภายในห้องด้วย ซึ่งการไต่สวนพยานทั้งสองปากนี้ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที
ศาลยังได้อ่านกระบวนการพิจารณาคดีโดยแจ้งว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทยสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือ กสม. นายทักษิณ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหทนครได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมตามที่ศาลสั่งแล้ว
โดยการไต่ส่วนนัดถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม เวลา 9.00 น. พร้อมออกหมายเรียก พล.ต.ต.นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล และ พล.ต.ต.นายแพทย์สุรพล เกษประยูร แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เข้ารับการไต่สวน ในวันที่ 18 กรกฎาคม จากนั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม ให้แพทยสภา ส่งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโรค และการเจ็บป่วยของนายทักษิณ มาให้ความเห็นต่อศาล
อย่างไรก็ตามศาลระบุว่า การนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยาน ซึ่งศาลไต่สวนในนัดก่อนหน้าเผยแพร่ต่อสาธารณะชนในลักษณะคำต่อคำ ซึ่งอาจทำให้พยานบุคคลที่จะมาเบิกความหลังจากนั้นทราบข้อเท็จจริงที่พยานคนก่อนได้เบิกความไว้ อาจทำให้ศาลไต่สวนแล้วได้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ครบถ้วน รวมถึงอาจมีการนำคำเบิกความไปวิเคราะห์หรือให้ความเห็นในทางคดีจึงก่อให้เกิดความสับสนแก่สังคม ประกอบกับข้อมูลด้านสุขภาพของ นายทักษิณ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ศาลให้คู่ความและผู้ที่เข้าฟังการพิจารณางดเว้นการเผยแพร่โฆษณาคำเบิกความของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ศาลไต่สวน.-319.-สำนักข่าวไทย