กรุงเทพฯ 15 เม.ย.- รองโฆษกรัฐบาลเตือนภัย 5 กลโกง มิจฉาชีพออนไลน์ช่วงสงกรานต์ พร้อมเปิดสถิติ 7 คดีที่ประชาชนถูกหลอกลวง พบมากที่สุด “ซื้อขายสินค้า-บริการ-โอนเงินรับรางวัล” ย้ำ อย่าให้โจรหลอก
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน พบว่ามิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- แอบอ้างเป็นขนส่ง ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการ โดยมิจฉาชีพจะส่ง SMS หรือข้อความผ่านแอปพลิเคชัน เช่น LINE, Facebook โดยอ้างว่า “พัสดุตกค้าง”, “บัญชีผิดปกติ”, หรือ “มีเงินเข้า” พร้อมแนบลิงก์หลอกลวงให้ผู้ที่หลงเชื่อกดลิงก์ เพื่อติดตั้งแพลตฟอร์มดึงข้อมูลส่วนตัว และเงินในบัญชีธนาคาร
- หลอกจองที่พัก/ตั๋วเดินทางปลอม มิจฉาชีพจะใช้รูปแบบการหลอกลวง โดยเปิดเพจหรือเว็บไซต์ปลอม เพื่อเสนอโปรโมชันการจองที่พัก หรือตั๋วเดินทางราคาถูกเกินจริง โดยหลอกให้โอนเงินล่วงหน้า แล้วจึงปิดช่องทาง หรือบล็อกการติดต่อ
- การแฮ็กบัญชี Facebook หรือ LINE เพื่อหลอกยืมเงิน โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการแฮ็กบัญชีของเพื่อนหรือญาติ แล้วทักแชทขอยืมเงินหรือขอความช่วยเหลือด่วน เช่น รถเสีย เข้าโรงพยาบาล ฯลฯ
- แชร์ลิงก์ปลอมหลอกให้กรอกข้อมูล ลิงก์ที่ใช้ชื่อคล้ายกับหน่วยงาน เช่น “แจกเงินช่วยสงกรานต์”, “รับของขวัญปีใหม่ไทย” เมื่อหลงเชื่อกดลิงก์ อาจนำไปสู่เว็บไซต์ปลอมเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล
- หลอกขายสินค้าออนไลน์ช่วงสงกรานต์ โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการสร้างเพจปลอมเพื่อขายสินค้าที่ดึงดูดความสนใจ และเข้ากับช่วงเทศกาล เช่น ปืนฉีดน้ำ เสื้อผ้าตามเทศกาล ของแต่งบ้านช่วงวันหยุดยาว ฯลฯ โดยเสนอโปรโมชันที่น่าสนใจ ราคาถูก มีจำนวนจำกัด เพื่อหลอกลวงให้ผู้ที่สนใจเร่งโอนเงินด่วน
ทั้งนี้ จากสถิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า มีการแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนกว่า 25,000 คดี โดย 7 อันดับสูงสุด ได้แก่ 1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ) จำนวน 13,643 คดี ,2.คดีหลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่น จำนวน 2,660 คดี ,3.คดีหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ จำนวน 2,524 คดี ,4.คดีหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 1,442 คดี ,5.คดีหลอกให้กู้เงิน จำนวน 1,413 คดี ,6.คดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 1,251 คดี และ 7.คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน จำนวน 1,046 คดี
“ขอย้ำเตือนประชาชน ยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี ผ่านศูนย์ AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุกล ระบุ .-316 -สำนักข่าวไทย