กองทัพไทย 5 มี.ค.- ผบ.ทสส. ถกบอร์ด ปชด. นัดแรก ปูทางส่งกลับคนจีน คลายยาแรง ตัดไฟฟ้า-น้ำมัน เมียนมา โต้ใช้ กองทัพ ออกโรงปราบส่วยชายแดน หลังทหารถูกข่มขู่ เผย ผบ.ตร. ปรับจูนตำรวจ ห้ามมีอีก ย้ำ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้หยุด
พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะ ประธานกรรมการ ปชด. ได้ประชุมนัดแรก โดยมี พลเอก ธิติชัย เทียนทอง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย,พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะรองประธานกรรมการ ปชด. พร้อมตัวแทนในคณะกรรมการเข้าร่วมอย่างพร้อมเพียง
ภายหลังมี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2568 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือคณะกรรมการ ปชด. ในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และภัยคุกคามอื่น ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงชายแดน
พลเอก ทรงวิทย์ กล่าวถึงผลการประชุมว่า ภารกิจแรกศูนย์ การสร้างองค์กรที่ทำงานร่วมกัน ผ่านการประสานสอดคล้องกัน ในวันที่ 6 -9มีนาคมนี้ ทางการจีนจะมีการส่งเครื่องบินมารับเหยื่อแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ผ่านชายแดนไทยที่จังหวัดตาก ดังนั้นศูนย์นี้จะประสานงาน ตั้งแต่รับตัวจากฝั่งเมียนมา และเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฏหมายไทย และส่งตัวขึ้นเครื่องบิน
ส่วนภารกิจที่สองคือการประเมินว่ามาตรการตัดไฟ ตัดน้ำมัน เมียนมาได้ผลมากน้อยเพียงใด ส่วน อินเทอร์เน็ตได้มอบให้กสทช. ดูว่าหลังตัดอินเตอร์เน็ตแล้วสัญญาณที่ส่งข้ามมายังประเทศไทยสามารถวัดได้หรือไม่จะมีการปฏิบัติการหรือใช้อินเตอร์เน็ตจากฝั่งไทยอีกหรือไม่ และ การช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม ซึ่งทางเมียนมาได้มีการขอผ่านทางที่ประชุมไตรภาคี กรณีโรงพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการนี้ก็จะพิจารณา แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดไปยังรัฐบาล ว่าจะอนุมัติหรือไม่
พล.อ.ทรงวิทย์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนล่าสุด มีการลักรอบข้ามแดน หลังจากที่ฝั่งเมียนมารับ เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีจำนวนมากกว่า 7,000 คนไม่ไหว ว่า ขณะนี้ได้ตรึงกำลังไว้อย่างดี แต่สิ่งที่เป็นห่วงหากเขาเดือดร้อนจากมาตรการฝั่งไทยจะแตกกระจายออกมา และการควบคุมก็จะยากขึ้น ดังนั้นตนเองจึงขอให้ ผบ.ทบ. สั่งการให้กองกำลังป้องกันแนวชายแดน เจรจากองกำลังที่ควบคุมเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้อยู่ในพื้นที่ ส่วนไทยพยายามแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
แต่ขออย่าสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น
ในขณะนี้การสอบสวนทางฝั่งเมียนมาร่วมกับจีนได้ดำเนินไปแล้วกว่า 3,000 คนและพร้อมที่จะส่งออกในห้วงวันที่6- 9 มีนาคมนี้ประมาณ 1,400 คน พร้อมกันนี้ตนก็ได้มีการขอให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เป็นเสาหลักในการทำขบวนการเนรเทศ ไทยสามารถรับได้จำนวนกี่คนต่อวัน ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลจริงที่มีนำไปพูดคุยกับต่างชาติ ว่าจะไม่สามารถ ที่จะเร่งรัดขั้นตอนได้ เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายไทยหากเร่งรัดเจ้าหน้าที่ก็อาจจะเข้าข่ายมาตรา 157 ได้
เมื่อถามว่า ศูนย์นี้ดำเนินการตัดวงจรส่วยชายแดนด้วยหรือไม่ พลเอก ทรงวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อประเมินประสิทธิภาพของข้าราชการวันนี้ ผบ.ตร.ได้พูดชัดว่า ได้เข้าไปปรับกระบวนทัศน์ของตำรวจที่ทำงานในเรื่องนี้ทั้งหมด ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้กรมตำรวจจะไม่ยอมรับอีกต่อไป ประพฤติมิชอบและทำให้เกิดภัยคุกคามต่อประเทศ และได้มีการแสดงตัวอย่างของการลงโทษของเจ้าหน้าที่และมีอีกจำนวนมาก ตนขอให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรมได้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของตนเองด้วยว่าสิ่งไหนที่เคยกระทำผิดวันนี้ต้องหยุด มิเช่นนั้นปัญหาเหล่านี้ก็จะกลับมาอีกในระยะยาว และเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นแผนระยะยาว เพราะอยู่ในข้อของการตรวจสอบประสิทธิภาพขององค์กรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะตามแนวชายแดนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดตาก
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าตำรวจข่มขู่ทหารในพื้นที่จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการปชด. โดยให้กองทัพคุม เพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวว่า ในเรื่องประเด็นที่ทหารถูกตำรวจในพื้นที่ข่มขู่ตน ยังไม่ทราบรายละเอียด ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมปชด. ที่มีผู้ช่วยผู้จัดการทหารสูงสุดเป็นประธาน โครงสร้างเดิม ที่เคยมีอยู่ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร และในยุคของพล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เคยใช้โครงสร้างนี้แก้ไขปัญหาแพร่ระบาดโควิดตามแนวชายแดน
ส่วนปัญหาที่ฝั่งกัมพูชา พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวว่าก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบแต่วันนี้ไม่ได้มีวาระที่พูดถึง แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยอมรับว่า คนไทยที่พัวพันกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งกัมพูชามีมากกว่านี้ แต่เมื่อคลี่คลายปัญหาในฝั่งเมียวดีแล้ว คณะกรรมการนี้ก็ต้องไปดูที่จุดอื่นๆ ตามแนวชายแดน เช่น การแก้ไขปัญหาในฝั่งกัมพูชา หากจำเป็นต้องตั้งศูนย์ก็สามารถดำเนินการได้
สำหรับการประสานงานกับผู้นำชุมชนกลุ่มน้อย ที่ดูแล บุคคลสัญชาติต่างๆ ที่จะส่งกลับ ประเทศต้นทางนั้น ในที่ประชุม ตนได้ขออนุญาติ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นรองประธาน ศอป.ชด. ให้สั่งการกองกำลังชายแดน เพื่อไปประสานกับกองกำลังที่ควบคุมบุคคล สัญชาติสัญชาติต่างๆ ที่จะส่งกลับ ซึ่งการพูดคุยก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียว ซึ่งทางกองกำลังชายแดนถือว่าเป็นข้อต่อในการสื่อสาร
“ในขณะเดียวกัน ก็ต้องติดต่อประสานงานกับทางรัฐบาลเมียนมาด้วย ตามช่องทาง TBC เป็นการพูดคุยกับตัวแทน รัฐบาลเมียนมาในจังหวัดเมียวด้วย ว่าในเบื้องต้นมีชาติที่ประสานงานมาเพื่อขอรับตัวบุคคลสัญชาติของตัวเองส่งกลับประเทศอีกหรือไม่ โดยตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าประชุมในวันนี้ตนได้ให้แจ้งให้ทำตาราง ว่ามีชาติใดประสานกลับมาแล้วบ้าง และจะรับตัว บุคคลสัญชาติตัวเองกลับเมื่อใด และได้กลับกี่คน อย่างไรก็ตามกระบวนการส่งกลับจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับขบวนการของเรา ซึ่งต้องที่ต้องมีการสอบสวนขยายผล”
สำหรับการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลเมียนมา เป็นการสู้รบโดยใช้กำลังทางอากาศ นั้นจากการประเมินสถานการณ์ ยังไม่มีผลกระทบในการส่งกลับบุคคลสัญชาติต่างๆเหล่านี้ โดยในวันพรุ่งนี้(6 มี.ค.) ศอป.ชด.ส่วนหน้า จะลงพื้นที่เป็นวันแรก เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เห็นว่าสถานการณ์พื้นที่เป็นอย่างไร -313 .-สำนักข่าวไทย