กทม. 22 ก.พ. – “คารม” กังวลดีเอสไอนัดประชุมบอร์ดคดีพิเศษ 25 ก.พ.นี้ คดีฮั้วเลือกตั้ง สว. เข้าเป็นคดีพิเศษ ส่อขัดกฎหมาย เพราะเป็นอำนาจก กกต. อัด “รมว.ยธ.” ใช้อำนาจขัด รธน. หวังล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ
นายคารม พลพรกลาง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในฐานะนักกฎหมาย แสดงความเห็นทางกฎหมายกรณีที่มีกลุ่ม ผู้สมัคร สว. ที่ไม่ได้รับเลือก ไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ้างว่าการเลือก สว. มีการฮั้วกัน และมีแนวโน้มว่าจะรับเป็นคดีพิเศษ เรื่องนี้ต้องรับว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจมาก เพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2545 นั้นมีเจตนาเพื่อเป็นพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ในคดีอาชญากรรมที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ มีการกระทำความผิดที่ซับซ้อน เป็นเครือข่ายอาชญากรรมเดิมนั้น เดิมผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนคดีอาญาทุกประเภทคือพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จากพระราชพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้กำกับ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นจะเห็นว่าต้องการให้มีพนักงานสอนสวนในคดีอาญาที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าคดีอาญาทั่วไป แต่ไม่น่าจะรวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้เฉพาะ และข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นเพียงพนักงานสอบสวน เหมือนพนักงานสอบสวนคดีอาญาทั่วไป การฟ้องคดีจึงต้องส่งผ่านพนักงานอัยการ เพื่อฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามปกติของการฟ้องคดี
ส่วนสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ที่มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ 2560 มาตรา 107 ถึง 113 การเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาฯ และคนรับรองสมาชิกวุฒิสภา คือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นายคารม กล่าวว่า การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนัดประชุมคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาว่าจะรับคดีที่มีผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แต่ไม่ได้รับเลือกมาร้องและอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ชอบนั้น จึงมีคำถามทางกฎหมายว่า
1.แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะบอกว่าอาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา สามารถทำได้ เพราะถือกฎหมายคนละฉบับ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งและละเอียดแล้ว การพ้นตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาภายหลังจาก กรรมการการเลือกตั้งรับรองแล้ว ย่อมเป็นไปตามมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญ แม้กรมจะสอบสวนคดีพิเศษจะมีการดำเนินคดีอาจทำได้เฉพาะบุคคล แต่แม้จะดำเนินคดีอาญาเฉพาะบุคคลในสมัยประชุมก็ต้องขออำนาจจากสภาฯ หากจะจับกุมคุมขังในสมัยการประชุมสภาก็ไม่อาจทำได้
2.คดีที่อ้างว่าการเลือกตั้ง สว. ไม่ชอบด้วนกฎหมาย แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรองและยืนยันแล้วว่าไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามคำกล่าวหาหรือคำร้อง และ กกต. เป็นองค์กรที่จัดการเลือกตั้งได้รับรองแล้ว แต่หากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษ และให้มีการดำเนินคดีอาญากับ สว. จะถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายไหม
3.การที่รัฐมนตรียุติธรรมอ้างว่ามีสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนถึง 138 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีจนต้องพ้นตำแหน่งทั้ง 138 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ก็ต้องมีการเลือกวุฒิสภาขึ้นใหม่ เพื่อให้ครบ 200 คน ถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ย่อมแปลได้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถล้มการเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ ทั้งที่สมาชิกวุฒิสภามาตามรัฐธรรมนูญ
4.การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และเป็นผู้บังคับบัญชากรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงพระราชบัญญัติ และมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มาดำเนินการ หากเป็นไปตามที่มีผู้สมัคร สว. ที่ไม่รับการเลือกตั้งร้องมา อาจทำให้ สว. ต้องหลุดไป หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ถึง 138 คนนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ไหม และมีผลอย่างไร หรือเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป
“ประเด็นเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญทางกฎหมายอย่างยิ่ง สามารถนำเอาไปทำวิทยานิพนธ์ได้เลย เพราะเป็นใช้อำนาจขององค์กรทางการบริหาร มาล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ดูสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นจุดจบของฝ่ายนิติบัญญัติ หากกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถทำได้ เพราะถ้าตรวจสอบสมาชิกวุฒิสภาจนต้องหลุดไป ทั้งที่ กกต. รับรองไปแล้ว ต่อไปก็จะมีการตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่น โดยมีการอ้างว่ามีการฮั้วการเลือกตั้ง อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะใหญ่กว่าอำนาจของประชาชน ตนเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตอนร่างขึ้นไม่น่าจะเป็นแบบนี้” นายคารม กล่าว.-319-สำนักข่าวไทย