รัฐสภา 1 ต.ค.-“พริษฐ์” โฆษกพรรคประชาชน แนะ 2 ทางโอกาสมี รธน.ฉบับใหม่ทันเลือกตั้งปี 70 ทำประชามติ 2 ครั้ง-แก้รายมาตรา หลัง สว. หักมติ สส. ในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ รับ 167 สว. เป็นอุปสรรค ขณะที่เห็นด้วยตั้งคณะทำงานทุกพรรคหาทางออก แต่ไม่อยากให้นานเกินอาจทำโอกาสริบหรี่
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดตั้งคณะทำงานหารือแก้รัฐธรรมนูญรวมถึงจะเชิญแกนนำทุกพรรคการเมือง หารือด้วยหลังสว. หักมติสส. ในร่างพ.ร.บ. ประชามติว่า ขั้นตอนต่อไปจะส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา แต่ถ้าดูแล้ว 2 สภามีความเห็นแตกต่างกัน ทางสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิ์ที่จะยืนยันร่างเดิมของตัวเองได้ แต่หากใช้สิทธิ์ดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6เดือน รัฐบาลจะกระทบต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลเคยวางแผนไว้ เกี่ยวกับการทำประชามติ ซึ่งจะทำให้การทำประชามติครั้งแรกจาก 3 ครั้งไม่สามารถทำได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และเป็นไปได้สูงมากๆ ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร. บังคับใช้ได้ทันในการเลือกตั้งทั่วไป ปี2570 ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่าตนและพรรคประชาชนมองว่า จะเดินได้อย่างไร ซึ่งมี 2 โจทย์สำคัญคือ 1. หนทางเป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำให้มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บังคับใช้ไม่ทัน ในการเลือกตั้งปี 70 คือการที่จะพยายามลดจำนวนประชามติจาก3ครั้งเป็น 2 ครั้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ประธานรัฐสภา จะต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับส.ส.ร. ซึ่งตอนนี้มีทั้งร่างของพรรคก้าวไกลในอดีตและพรรคเพื่อไทย ที่ทางสภายังไม่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ดังนั้นหากประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระสามารถเดินก็จะสามารถเดินได้ตามโรดแมป ที่ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเป็น 2 ครั้งได้ แต่ส่วนตัวก็เข้าใจว่าประธานรัฐสภากังวลว่าการบรรจุจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขึ้นอยู่ที่ประธานรัฐสภาจะทบทวน เพราะเห็นว่าการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลเลย และ2. ให้รัฐสภา เดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนาน กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตราไหนที่เป็นปัญหาให้เดินหน้าแก้ไขต่อ ซึ่งล่าสุดพรรคประชาชน เตรียม ยื่นแก้ 7 แพ็คเกจ ตามที่ได้แถลงข่าวไว้
“2 ส่วนสำคัญนี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาชนจะนำไปสื่อสารต่อสาธารณะ และนำไปหารือกับพรรคการเมืองอื่นด้วย” นายพริษฐ์ กล่าว
ส่วนแนวคิดในการตั้งคณะทำงานเพื่อหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของนายชูศักดิ์นั้นนายพริษฐ์ กล่าวว่ายังไม่เห็นรายละเอียดของคณะทำงาน แต่เห็นว่าควรหาข้อสรุปโดยเร็ว และการพูดคุยกัน เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่แล้ว ซึ่งจุดยืนของตนและพรรคประชาชน เราชัดเจนมาตลอด ซึ่งจะสามารถนำไปหารือกับพรรคการเมืองอื่นได้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพียงแต่ไม่อยากให้กรอบเวลาตรงนี้นานเกินไป เพราะถ้าไม่รีบหาทางออก โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งก็จะริบหรี่ลง
เมื่อถามถึงการที่สว.หักมติ สส. ประเมินได้หรือไม่ว่าโอกาสในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งส.ส.ร. จะสำเร็จหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าการแก้ไขเป็นรายมาตราและการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสว.มีบทบาทสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนเอาไว้ว่าถ้าจะปลดล็อคมีส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือรายมาตราไม่สามารถผ่านไปได้ หากไม่ได้เสียงเห็นชอบ 1ใน 3 ของสว.
เมื่อถามถึงเสียง167 ของ สว.ที่ผ่านวาระ3 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติของสว.ถือว่าเกิน1ใน3 มองดูแล้วเป็นสว. ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้า 167 เสียงที่โหวตกลับลำร่างพ.ร.บ. ประชามติ ตัดสินใจที่จะขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกเรื่อง ในเชิงสถิติตัวเลข จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอุปสรรคแน่นอน แต่เราก็มีความหวังว่า จะได้รับความเห็นชอบจาก สว. ในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้การดำเนินการ สามารถไปต่อได้ แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่พรรคการเมืองในซีกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ออกมาย้ำหลายครั้งว่าเห็นด้วย กับการที่จะมีส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงหวังว่าผนึกกำลัง ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นได้จริง และทำให้มีเสียงมากเพียงพอจากสว.
นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่าในสัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรมีร่างกฎหมายสำคัญค้างการลงมติ คือร่างพ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ซึ่งหวังว่า สภาจะรับหลักการทุกร่าง และนำข้อแตกต่างในรายละเอียดบางประการไปถกเถียงในชั้นกรรมาธิการต่อไป นอกจากนี้ยังจะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ และมีร่างของ พรรครวมไทยสร้างชาติยื่นประกบเข้ามา ซึ่งมีหลายเรื่องที่สอดคล้องกัน จึงหวังจะเป็นกฎหมายอีก 1 ฉบับที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันผลักดัน เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ป้องกันการผูกขาดและมีการแข่งขัน อย่างเสรีมากขึ้น เพราะเมื่อใดที่เศรษฐกิจมีการผูกขาดประชาชนจะได้รับผลกระทบ.-319.-สำนักข่าวไทย