25 ก.ค. – นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตามที่กัมพูชาร้องขอไว้ รายงาน 9 ทันโลก พาไปติดตามบทบาทและโอกาสของไทยบนเวทีสำคัญนี้
ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาตินานเกือบ 80 ปี จะได้แสดงบทบาทอีกครั้งในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการสื่อสารกับประชาคมโลก ถึงการกระทำของกัมพูชา ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหลายด้าน รวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติที่ไทยยึดมั่น
ในห้องประชุมนี้ ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ลำดับที่ 55 จะทำหน้าที่อีกครั้งในภารกิจด้านสันติภาพ ตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2489 ที่นี่ไทยเคยทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะมนตรีความมั่นคง โดยพลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา และหม่อมหลวง พีระพงศ์ เกษมศรี ทำหน้าที่สองวาระ ในปี 2528 และ 2529 ในเวลาที่สงครามเย็นคุกรุ่น
มาในวันนี้ไทยกำลังจะมีโอกาสอันดีที่ได้ใช้ช่องทางการทูตสำคัญ เสาหลักความมั่นคงของสหประชาชาติ ในอีกบทบาทหนึ่งที่ยังคงอยู่บนพื้นฐานการแสวงหาสันติภาพตามกลไกนี้ เมื่อประเทศสมาชิก ในกรณีนี้คือกัมพูชา ร้องขอให้เปิดประชุมเร่งด่วน สมาชิกคณะมนตรีซึ่งมีสมาชิกถาวร 5 ประเทศ และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ พิจารณากรณีที่เป็นภัยคุกคามใดต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เช่น กรณีการปะทะระหว่างไทยกับกัมพูชา
ประธานคณะมนตรีหมุนเวียนในเวลานี้ได้บรรจุเรื่องเพื่อเรียกประชุมเร่งด่วน เพื่อให้รับฟังแถลงการณ์ของแต่ละฝ่าย และให้ประเทศสมาชิกได้สดับรับฟัง และเสนอวิธีแก้ไขข้อพิพาท ในกรณีของไทยกับกัมพูชา เป็นไปได้สูงที่สมาชิกคณะมนตรีจะเรียกร้องให้หาแนวทางสันติ ให้หยุดยิงหรือลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 6 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ว่าด้วยการระงับข้อพิพาท โดยเฉพาะมาตรา 33 กำหนดให้เปิดการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม หรือประการอื่นใด ที่คู่กรณีเลือก
นอกจากนั้นยังมีมาตราอื่นๆ เปิดทางให้คณะมนตรีความมั่นคงจัดการเจรจาไกล่เกลี่ย เปิดการสืบสวนหาความจริง โดยตั้งทูตพิเศษขึ้นดูแลหรือเสนอทางออกทางกฎหมายด้วยการส่งต่อให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยอาจมีการเสนอร่างข้อมติ แล้วให้สมาชิกออกเสียงรับรองอย่างเป็นทางการออกมา โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกอย่างน้อย 9 ประเทศ จาก 15 ประเทศ โดยที่สมาชิกถาวร 5 ประเทศ ไม่ใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้
อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์ การบังคับใช้ข้อมติเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด แม้ว่าตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อมติต่างๆ ผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศ แต่มีข้อจำกัดมากมายที่ข้อมติใดๆ ที่มีความหมายและเกิดประสิทธิผล ตั้งแต่สิทธิยับยั้งของสมาชิกถาวร ที่อาจคว่ำข้อมติใดๆ ได้เพียงเสียงสมาชิกถาวรเพียงเสียงเดียว ขาดกลไกการบังคับใช้ และสมาชิกนั้นๆ อาจปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหากเสียผลประโยชน์ สหประชาชาติยังขาดแคลนปัจจัยและบุคลากรในการจัดการความขัดแย้ง
โดยรวมแล้วจำเป็นต้องเกิดฉันทามติทางการเมืองก่อน เพราะหลายครั้งคณะมนตรีความมั่นคงถูกตราหน้าว่าเป็นเสือกระดาษ ล้มเหลวในการจัดการสถานการณ์ร้ายแรงหลายครั้งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีสถานการณ์ชายแดนเวลานี้ เป็นโอกาสของไทยที่จะได้ชี้แจงถึงการกระทำของกัมพูชาละเมิดอธิปไตยของไทย โดยเฉพาะการโจมตีเป้าหมายพื้นที่พลเรือน แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคง ที่อย่างไรเสียก็ยังเป็นกลไกสำคัญที่สุดด้านสันติภาพและความมั่นคงโลก เพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างของคู่กรณี.-สำนักข่าวไทย