กกต. 7 พ.ค.-เครือข่ายประชาชน ยื่น กกต.แก้ระเบียบแนะนำตัว สว.โทษอาญาสร้างความหวาดกลัวผู้สมัคร ปิดปากปิดหูปิดตาประชาชน-สื่อฯ
เครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม นำโดย นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายฯ และผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นางนันทนา นันทวโรภาส ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้ระงับการบังคับใช้ ระเบียบฯ การแนะนำตัว สว. และแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด
นายนนทวัฒน์ เหล่าผา อาสาสมัครเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (wewatch) กล่าวว่าระเบียบดังกล่าว วางกรอบการแนะนำตัวเข้มงวด เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ กกต.ระงับการบังคับใช้ระเบียบไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีส่วนร่วมของประชาชน โดย กกต.ควรกําหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับ ฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชนที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กกต.จะทำหน้าที่ได้อย่างยุติธรรม ให้กับสื่อมวลชนและประชาชน ในกระบวนการเลือกตั้งสว.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
นายวรา กล่าวว่า กกต.ต้องไม่ให้กฎระเบียบมาเป็นกำแพงกั้นขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และให้ผู้สมัครได้แถลงข้อมูลแก่ประชาชน กกต. อย่าเอากฎระเบียบมาขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
“สว. เป็นหนึ่งใน 500 คนของรัฐสภา ที่ยึดโยงโดยตรงกับภาคประชาชน ฉะนั้น วันนี้มาเพื่อเรียกร้อง กกต.ว่าอย่าปิดกั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน เสรีภาพของผู้สมัคร หรือของสื่อมวลชน” นายวรา กล่าว
ด้านนางนันทนา กล่าวว่า ตนเห็นสอดคล้องกับนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนบางข้อของระเบียบฉบับนี้ แต่ศาลปกครองนัดไต่สวนวันที่ 16 พ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีกฤษฎีกาการเลือก สว.ออกมาแล้ว จึงต้องมายื่นต่อ กกต.โดยตรง เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าระเบียบนี้ส่งผลต่อความหวาดกลัว ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวให้ประชาชนได้รับรู้ กกต.จึงควรจะปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้อง กับข้อเท็จจริงและทันต่อการที่จะมีกฤษฎีกาการเลือกสว.ออกมา
“ระเบียบ กกต.ที่ออกมา ข้อกำหนดเรื่องการแนะนำตัวถ้าผู้สมัครทำผิดพลาดไป มีโทษทางอาญา เป็นเรื่องที่สร้างความหวาดกลัว ทั้งที่การเลือกสว. ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ประชาชนไม่ได้รับรู้มาก่อน ดังนั้นถ้าผู้สมัครแนะนำตัวผิดพลาดไป ก็ไม่ควรมีโทษทางอาญา อีกทั้งการแนะนำตัวที่ให้แนะนำกับผู้สมัครด้วยกันเอง ก็ไม่มีใครรู้ว่าใครประสงค์จะสมัคร เพราะ กกต.ก็ไม่มีช่องทางการสื่อสารว่าใครจะเป็นผู้สมัคร ตรงนี้เป็นการปิดกั้นผู้สมัครด้วยกันเอง และไม่ควรจำกัดให้แนะนำเฉพาะกับผู้สมัครด้วยกัน ประชาชนควรจะได้รับรู้ด้วยเพราะแม้จะไม่ได้เลือกแต่สว.ก็เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ควรที่จะได้รับรู้ประวัติของผู้สมัคร และมีส่วนที่จะได้เฝ้ามองการเลือกครั้งนี้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้ออกมาท้วงติง กกต.ควรจะรับฟัง และยังมีเวลาที่จะปรับปรุง ระเบียบเพื่อไม่ให้ถูกข้อครหานินทาจากประชาชนว่า กกต.ไม่ได้สนับสนุนการเลือกสว. และไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนทั้งหมดได้รับรู้ข้อมูลการเลือกตั้งครั้งนี้ ” นางนันทนา กล่าว
นางนันทนา กล่าวด้วยว่าการที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการร้องเป็นคดีความ ไม่ได้ต้องการให้มีการดำเนินคดีกัน เป็นการมาขอความเห็นใจ ความเข้าใจจาก กกต. แต่ถ้ากกต.ไม่คิดจะทบทวนกติกาปรับปรุง เท่ากับ กกต.ไม่ได้สนับสนุนการเลือกให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของ กกต.เสียหายเอง.-314.-สำนักข่าวไทย