ทำเนียบรัฐบาล 1 มี.ค.-“ปดิพัทธ์” บุกทำเนียบฯ ทวงร่างกฎหมายการเงิน โต้เพื่อไทยล้ำฝ่ายบริหารตรงไหน มาเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน แนะรัฐมนตรีที่ไม่ตอบกระทู้ แจงรายละเอียดงานให้มากกว่าแค่บอกว่าติดภารกิจ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ติดตามและทวงถามถึงกระบวนการการทำงานเกี่ยวกับร่างกฎหมายการเงิน รวมถึงกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีไปตอบกระทู้ โดยนายปดิพัทธ์กล่าวว่าได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว โดยลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ไม่ได้หารือกับนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มีเพียงเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมารับเรื่องเท่านั้น
ภายหลังยื่นหนังสือ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มาวันนี้เพื่อนำข้อเสนอและข้อหารือของประชาชนในแต่ละพื้นที่มาให้ได้รับทราบ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่เห็นว่ายังคงต้องประสานงาน และทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการออกกฎหมายร่วมกันด้วย โดยหลังจากออกกฎหมายแล้ว ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ในส่วนของกระบวนการการทำงานของธุรการ ซึ่งส่งร่างการเงินมาแล้ว อยากทราบรายละเอียดว่ามีการประสานงานไปที่หน่วยงานต่าง ๆ และมีกติกาเงื่อนไข การตอบสนองอย่างไรบ้าง รวมถึงรายละเอียดของกระทรวงที่ต้องส่งความเห็นเข้ามาด้วย เพราะทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน จึงอยากทราบรายละเอียดว่ามีหน่วยงานไหนบ้าง และให้ความร่วมมือมากแค่ไหน
“ส่วนประเด็นที่รัฐมนตรีไม่ได้มาตอบกระทู้ ตามหลักแล้วต้องส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหลายรัฐมนตรีได้ทำเอกสารชี้แจงมาถูกต้อง ผมไม่ได้ติดใจ แต่มีรัฐมนตรีบางคนที่ไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ ซึ่งเข้าใจดีในเรื่องของภารกิจต่าง ๆ แต่เมื่อมีภารกิจแล้ว ก็ควรแจกแจงรายละเอียดภารกิจให้ชัดเจน ไม่ใช่ตอบเพียงติดภารกิจ ไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้” นายปดิพัทธ์ กล่าว
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยระบุเป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มาบังคับให้เซ็นรับรอง แต่มาเพราะคิดว่ากระบวนการทำงานร่วมกันต้องปรับปรุง ซึ่งวันนี้ไม่ได้คาดหวังว่าต้องพบกับนายสมคิด พบกับใครก็ได้ และการที่บอกว่าตัวร่างกฎหมายต้องผ่านการให้ความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกปัดตกจากในสภาฯ ตนมองว่า ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาฯ ดีกว่า เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สามารถปรับปรุงร่างได้ในสมัยนั้น ๆ และตอนนี้กฎหมายหลายฉบับรอมานานกว่าหกเดือนแล้ว อีกทั้งตนไม่ได้อยากมาโต้ตอบผ่านสื่อ ตนไม่ได้ไร้เดียงสา เรื่องการเสนอกฎหมายก็มีจังหวะทางการเมือง
ส่วนหนังสือที่นัดหมายมาก่อนหน้า นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า หากส่งข้อมูลกลับไปอย่างครบถ้วนว่าติดตรงไหน เพราะอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาทวงถาม แต่ในเอกสารมีรายละเอียดน้อยมาก บอกแค่ว่ารอความเห็นจากหน่วยงานแล้ว ถ้าหน่วยงานไม่ตอบเลย 3-4 ปี จะทำอย่างไร ยืนยันว่ามาในฐานะคนที่ดูแลเรื่องกฎหมายในสภาฯ โดยตรงทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้น
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าควรมีมารยาทในการทำงาน นายปดิพัทธ์ ถามกลับว่า การที่จะมาคุยเพื่อทำงานร่วมกันนั้นไม่มีมารยาทตรงไหน ถ้าตนงมาบุกทำเนียบรัฐบาลแบบไม่สุภาพ หรือปิดทำเนียบก็ว่าไปอย่าง แต่มาหาทางออกในการพิจารณากฎหมายร่วมกัน
หลังจากนั้นนายปดิพัทธ์เดินไปรอที่ตึกสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บริเวณหลังตึกไทยคู่ฟ้า และได้พบกับนายจงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองงานประสานงานทางการเมือง จึงพาไปคุยกันต่อที่ตึกบัญชาการชั้น 5 ซึ่งนายจงเจริญ เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงคือ นายปดิพัทธ์ได้ส่งหนังสือขอพบเลขาธิการนายกฯ เพื่อขอเข้ามาพูดคุย และปรึกษาหารือ เกี่ยวกับร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ด้านการเงิน ซึ่งเลขาธิการนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนเองไปพบนายปดิพัทธ์ ที่รัฐสภา ซึ่งอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับว่านายปดิพัทธ์จะให้ไปพบเมื่อใด แต่เป็นช่วงจังหวะหนังสือสวนทางกัน จึงทำให้ไม่รู้กัน ประเด็นมีเพียงเท่านี้
ภายหลังจากหารือประมาณ 30 นาที นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อติดตามว่าขั้นตอนการเสนอกฎหมายอยู่ในขั้นตอนใด และเป็นการกระตุ้นให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง รับทราบถึงศักยภาพของหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการตอบกระทู้ ของรัฐมนตรี หากไม่มา ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่นายปดิพัทธ์พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะ จุฬาราชมนตรี ณ สำนักงานจุฬาราชมนตรี ถนน คลองเก้า เขต หนองจอก กรุงเทพฯ.-316,317.-สำนักข่าวไทย