รัฐสภา 18 ก.ค.-“ปดิพัทธ์” ไม่กังวล ศาลนัดชี้ชะตายุบพรรคก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ บอกคำแถลงของก้าวไกลมีน้ำหนัก มองหากยุบพรรคจริง ส่งผลให้นิติบัญญัติอ่อนแอ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล กล่าวถึง การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นัดวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารก้าวไกลจะมีการเตรียมการอย่างไร ว่า ขอให้ความเห็นแบ่งเป็นสองส่วน คือในสถานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนตัวสถาบันนิติบัญญัติ การยุบพรรคการเมืองเป็นการทำลายเจตนารมย์ของประชาชนและทำให้สถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศใดก็ตามที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่มีการยุบพรรคฝ่ายค้าน กลไกการตรวจสอบรัฐบาล กลไกที่จะรักษาสิทธิ์ของประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งก็จะบกพร่องไปด้วย ตนค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ว่าถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้ว สภาหน้าตาจะเป็นอย่างไร ฝ่ายค้านจะยังเข้มแข็งหรือไม่ จะมีการตรวจสอบถ่วงดุล อีกสองอำนาจ คืออำนาจบริหารและอำนาจตุลาการได้อย่างไรและคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่สภาไทยที่ต้องกังวล แต่สภานานาชาติ เพื่อน สส.ในหลายประเทศและทูตหลายประเทศ ก็มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของหลักการของนิติบัญญัติ ถ้านิติบัญญัติถูกฝ่ายอื่นแทรกแซง ห้ามไม่ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อทำแล้วมีโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศของเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ และ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ ก็จะมีผลต่อตำแหน่งรองประธานสภาฯ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าตนเองเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลและอยู่ในชุดของรณรงค์การเลือกตั้งในปี 2566 และรายชื่อของตนก็ปรากฏชัดเจนอยู่ในคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่เรื่องของการตัดสินในวันที่ 7 สิงหาคม คำแถลงของพรรคก้าวไกลนั้นมีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะคำร้องของ กกต. และข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ออกมาสู่สังคม ตนคิดว่าวิญญูชน สื่อมวลชน นักวิชาการต่างๆ ก็ได้มีการวินิจฉัยของตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว และตนไม่ได้มีความกังวลในวันที่ 7 สิงหาคมแต่อย่างใด ส่วนตำแหน่งประธานและรองประธานสภาฯ จะต้องเป็น สส. ถ้าตนโดนตัดสิทธิ์ความเป็น สส. ก็จะหมดลงไปด้วย แต่ทั้งหมดก็เป็นการตัดสินใจของสภาหลังจากนั้น ก็คิดว่าจะมีการสรรหาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญต่อไป
ทั้งนี้ หากเกิดผลที่ออกมาไม่เป็นบวก รู้สึกเสียดายอะไรหรือไม่ ต่อการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ค่อยมาถามความเห็นหลังจากนั้น ตนคิดว่าความตั้งใจของเราในการทำงานจากที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งเมื่อไปดูย้อนหลังจะเห็นว่าตนได้ทำเกือบทุกข้อแล้ว เหลือเรื่องใหญ่ใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลามากหน่อย เช่นเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในปลายปีจะมีโครงสร้างใหม่ ว่าอะไรที่มีโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนกัน ระหว่าง สส.-สว. เราจะนำมารวม และเราจะต้องมีการเปิดหน่วยงานขึ้นใหม่ในอนาคตอย่างไร ซึ่งตนเองตื่นเต้น ที่โครงสร้างใหม่จะออกมา และรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน รวมถึง แผนพัฒนารัฐสภาดิจิทัล (DIGITAL PARLIAMENT) ที่ได้ทำเอ็มโอยูกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอีกสองสัปดาห์จะลงนามกับ NECTEC ถ้าจะเสียดายก็จะเสียดายว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นำของรุ่นถัดไป แต่ถามว่าตอนนี้เรื่องทั้งหมดที่ตนได้ทำได้นำพาสภาไปสู่ ความเป็น Smart and Open Parliament อย่างถูกทางแล้ว.-315.-สำนักข่าวไทย