สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) 2 ก.พ.-“วิโรจน์” เผยหัวข้อเตรียมหารือรมว.กลาโหม ชูโครงการพลทหารปลอดภัย หวังกองทัพให้ความร่วมมือ เน้นย้ำการทำงานร่วมกัน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การมากระทรวงกลาโหมในครั้งนี้เพื่อทำงานร่วมกัน โดยมีจุดยืนสำคัญว่าเพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกันในการติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะความโปร่งใสในการดำเนินการกิจการกองทัพ เช่น เรื่องเรือดำน้ำ เรือหลวงสุโขทัย และที่ดินทหารที่ทับซ้อนกับพลเรือน รวมถึงการจัดการเงินนอกงบประมาณของกองทัพให้มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพลเรือนกับกองทัพไม่ให้เกิดการตั้งคำถามในแง่ลบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นความจริงใจของคณะกรรมาธิการการทหาร
นายวิโรจน์ กล่าวว่า โครงการที่สำคัญที่สุดที่คณะ กมธ.การทหารจะเปิดตัววันนี้ และขอความร่วมมือจากทางกระทรวงกลาโหม คือโครงการ “พลทหารปลอดภัย” โดยมีรองประธานกรรมาธิการฯ คือ นาย ธนเดช เพ็งสุข สส.พรรคก้าวไกล และรองประธาน กมธ.การทหาร เป็นผู้ประสานงาน เปิดช่องทางการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ หากพบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนกับสวัสดิภาพของพลทหารที่อยู่ในค่ายทหาร จะหารือโดยด่วนที่สุด เพื่อสกัดกั้นความไม่ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องไม่มีทหารเกณฑ์บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย
“โครงการนี้จะทำให้ผู้ปกครองของพลทหารรู้สึกปลอดภัย และหากทหารรู้สึกว่าการอยู่ในค่ายมีความปลอดภัย ในอนาคตอาจมีผู้มาสมัครมากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งรายละเอียดจะให้นายธนเดช แถลงให้ทราบอีกครั้ง โครงการนี้จะฝึกอบรม โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหม ให้ส่งทหารระดับบังคับบัญชามาอบรมเกี่ยวกับพ.ร.บ. อุ้มหายและซ้อมทรมาน หากสุดท้าย ไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ได้จริง ๆ เรามีกระบวนการและกฎเกณฑ์ที่จะรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริง ส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อัยการสำนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามพ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งวันนี้จะมาชี้แจงให้นาย สุทินทราบถึงความปรารถนาดีและกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบของกรรมาธิการเป็นอย่างไร” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องความร่วมมือการขอข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริง ยุคก่อนจะทำหนังสือไปถึงหน่วยงานเพียง 1 ครั้ง หากไม่ได้รับคำตอบจะเงียบหายไป แต่มติ กรรมาธิการการทหารจะทำหนังสือตามถึง 3 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกจะทำหนังสือถึงหน่วยงานโดยตรง ครั้งที่สองจะทำถึงนายสุทิน ผู้บังคับบัญชาสูงสุด เพื่อสั่งการหน่วยงาน และครั้งที่สามจะทำหนังสือส่งไปว่ายังไม่ได้รับ นายสุทินจะเห็นถึงความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการฯหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเข้าใจได้ว่านายสุทินมีเจตนาไม่ให้ความร่วมมือ.-317.-สำนักข่าวไทย