ป.ป.ช. 16 ม.ค.-คปท. ยื่น ป.ป.ช. ทวงถามตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้าราชการผิด 157 ให้ “ทักษิณ” นอน รพ.ตำรวจ และยื่นเพิ่มให้สอบ “สหการณ์” อธิบดีราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ด้านเลขาธิการ ป.ป.ช.ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเชิญหน่วยงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำ คปท. ไปยื่นหนังสือต่อนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอหารือและติดตามขอทราบความคืบหน้าต่อการร้องเรียนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จากกรณีที่ขอให้ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งคณะทำงานขึ้นมาไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และนายแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่าเหตุใดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ป.ป.ช.มีการดำเนินการคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง หรือมีการตั้งคณะไต่สวนเบื้องต้น หรือกำหนดประเด็นการไต่สวนอย่างไร พร้อมทั้งขอให้เร่งดำเนินการทางคดีอย่างเร่งด่วน
พร้อมกันนี้ มายื่นเพิ่มเติมในวันนี้เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวนดำเนินคดีกับนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่เร่งนำตัวผู้ต้องขังกลับเรือนจำ หรือร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ด้วยการขยายเวลารักษาตัวนอกเรือนจำของนักโทษเด็ดขาด นายทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่เป็นเพียงการเฝ้าระวังอาการ ซึ่งไม่มีเหตุผลและระเบียบให้นอนรักษาตัวต่อนอกเรือนจำ โดยมีนาย นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.มารับหนังสือ
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือกว่า 20 นาที นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า ว่านับตั้งแต่รับเรื่องดังกล่าวมา ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร้องเรียนด้วยเช่นเดียวกัน ทาง ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำตามกระบวนการตามขั้นตอน โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจรับ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่ง ป.ป.ช. ได้มีหนังสือไปถึงหลายหน่วยงาน เช่น กรมราชทัณฑ์ เรือนจำและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำประกอบการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และบางหน่วยงานก็ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกลับมาแล้ว
สำหรับกรอบเวลาดำเนินการจะอยู่ที่ 180 วัน แต่โดยหลักแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กรอบระยะเวลา เป็นเพียงกรอบเร่งรัดของเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องนี้จะต้องนำข้อเท็จจริงมาตรวจสอบก่อน ว่ามีหลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณา และกฎระเบียบ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเชิญหน่วยงาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำ หากได้ข้อสรุปว่าจะมีการชี้มูลความผิดหรือไม่ จะรายงานให้สื่อมวลชนทราบต่อไป
ด้านนายพิชิต กล่าวว่า การหารือในวันนี้ได้พูดถึง 2 เรื่องที่ได้มีการยื่นไป โดยเรื่องแรกก็ได้รับคำชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ร้องกล่าวโทษอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน ในประเด็นการรักษาตัวของนายทักษิณ 120 วัน และการขยายเวลาการนอนรักษาตัว โดยอ้างเหตุการเฝ้าระวัง ซึ่งการเฝ้าระวังไม่ได้อยู่ในระเบียบของการนอนรักษาตัวนอกเรือนจำ ดังนั้น การทำในลักษณะดังกล่าว อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่นายนัสเซอร์ กล่าวถึงการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาตรวจสอบก่อนยื่นเรื่องต่อประธานศาลฏีกา เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนการทำงานของ ป.ป.ช. นั้น ตอนนี้ยังคงดำเนินการอยู่ และภารกิจที่จะไปตามพื้นที่ต่างจังหวัดยังคงเหมือนเดิม
ส่วนการรวบรวมเสียง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ 150 คน เพื่อเสนอประธานรัฐสภา ประธานฯ ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกา เพื่อให้ตั้งคณะทำงานการไต่สวนของ ป.ป.ช. นั้น นายนัสเซอร์ ระบุว่า เรากำลังประสานไปยังพรรคฝ่ายค้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังคงอยู่ในช่วงของการหารือกับคนที่ประสานงาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจหรือไม่ ว่าจะสามารถรวบรวมได้ถึง 2 หมื่นรายชื่อตามเป้าหมาย นายนัสเซอร์ กล่าวว่า จะถึงเป้าหรือไม่ มันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าประชาชนจะร่วมรักษา และยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยให้ดำรงอยู่หรือไม่.-314.-สำนักข่าวไทย