กทม. 30 ธ.ค.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขีดเส้นรัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้อง แจงนโยบายแจกเงินดิจิทัลภายใน 30 วัน ก่อนถกขัดกฎหมาย-รัฐธรรมนูญหรือไม่ คาดใช้เวลาไม่นาน หากผิดพร้อมส่งศาล รธน.ชี้ขาด
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าคำร้องภาคประชาชนยื่นให้มีการตรวจสอบนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการสอบถามความชัดเจนของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล และสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวการดำเนินนโยบาย เพื่อจะนำมาพิจารณาร่วมกับข้อกฎหมายว่านโยบายขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร หากผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับข้อมูลการชี้แจงของรัฐบาลและด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการวิเคราะห์ตามข้อกฎหมาย
“เราได้แจ้งขอรายละเอียดไปแล้ว รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย ขณะนี้อยู่ระหว่างที่หน่วยงานให้ข้อเท็จจริงและแสดงความเห็น เพื่อจะได้นำมาประมวลและวิเคราะห์ร่วมกันว่าขัดหรือไม่ขัดกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ” นายสมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้กรอบเวลารัฐบาลในการชี้แจงกลับมายังผู้ตรวจการแผ่นดินเท่าไหร่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า โดยระเบียบปฏิบัติให้เวลาหน่วยงานชี้แจงภายใน 30 วัน ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อกลางเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตามกรอบเวลาการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว การดูข้อกฎหมายก็คงจะใช้เวลาไม่นานขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและความเห็นของหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายดังกล่าว รวมถึงข้อเท็จจริงที่จะได้รับ ผู้ตรวจจะพยายามให้ได้ผลการพิจารณาออกมาโดยเร็ว เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน
เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายออกมาแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องการกู้เงินและการดำเนินนโยบายอาจกระทบกับวินัยการเงินการคลังอยากเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่วิกฤต ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอย่างไรบ้าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะไปถึงการจัดทำข้อเสนอแนะจะต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ถึงจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะที่ถูกต้อง
หากได้รับข้อมูลและพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วพบว่าขัดกับกฎหมาย ด้าน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการอย่างไรต่อ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าพบว่าไม่ขัดกับกฎหมายก็ยุติเรื่อง แต่หากขัดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่.-318.-สำนักข่าวไทย