รัฐสภา 13 ก.ค. – “เสรี” ยันไม่เลือก “พิธา” ต่อให้บอกไม่แก้ ม.112 ตอนนี้ก็ไม่เชื่อ โอด ส.ว. ทนเสียงก่นด่าตลอด 4 ปี ย้ำเคารพเสียงของประชาชน แต่ต้องทำหน้าที่ปกป้อง 3 เสาหลักของชาติ พร้อมดักทางถ้าไม่ได้อย่ายุยง-ปลุกม็อบ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวอภิปรายว่า การพิจารณาให้ความเห็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ สิ่งที่ตนเสนอต่อที่ประชุมไม่ได้เกิดจากความอคติ หรือความไม่ชอบนายพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่บัญญัติชัดเจนว่าให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำว่าสมควรอยากให้ที่ประชุมได้พิจารณา โดยเห็นว่านายพิธาไม่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเหตุผลสำคัญในฐานะวุฒิสภา ที่ถูกพูดเสมอว่าเราจะไม่เลือกนายพิธาตามมติมหาชนในการเลือกตั้ง และต้องทำความเข้าใจว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาชนลงคะแนนเลือกแต่ละพรรคการเมืองมาก็ต้องทำตามฉันทามติของประชาชน ถามว่าเราไม่ให้ความเคารพประชาชนหรือไม่ ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าเราก็ให้ความเคารพ แต่การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
นายเสรี กล่าวว่า วันนี้มีการนัดหมายประชาชาให้ออกมาแสดงเจตจำนงร่วมกันในต่างจังหวัดทั่วประเทศ จนสื่อมวลชนถามตนไม่กลัวเสียงประชาชนนอกสภาฯ ที่สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ หรือ ก็ต้องตอบว่ากลัว กลัวมาก ว่าจะเข้าใจผิดว่าวุฒิสภาไม่ให้ความเคารพเสียงของประชาชน แต่ด้วยความเกรงกลัวเสียงของประชาชน ก็คำนึงถึงหน้าที่วุฒิสภาที่ต้องทำงานปกป้องรักษาประเทศ รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ตอนนี้เป็นภารกิจหน้าที่สำคัญที่เป็นคนละส่วนของการทำหน้าที่ในรัฐสภา และการทำหน้าที่ในรัฐสภาก็มีเสียงพูดว่าเสียงที่สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีจากหลายพรรคการเมือง จนรวมกัน 8 พรรคตั้งรัฐบาล เมื่อรวมเสียงกันแล้วได้ถึง 30 ล้านเสียง ทำให้ประชาชนก่นด่าวุฒิสภาที่จะไม่เลือกนายพิธา แต่พรรคก้าวไกลได้ 14 เสียง อย่าสำคัญว่าตัวเองได้ 30 ล้านเสียง และเสียงที่เหลือเป็นของพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนจากประชาชนถึง 10 ล้านเสียง เท่ากับว่าไม่ได้เลือกนายพิธาเป็นนายกฯ แต่เลือกแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เท่ากับว่า ส.ส. แต่ละพรรครวมเสียงกันเพื่อเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ จึงต้องทำความเข้าใจว่าวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชนแล้ว
นายเสรี ยังกล่าวถึงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 ที่กำหนดเรื่องคุณสมบัติห้ามถือหุ้นสื่อตามมาตรา 98(3) เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ ต้องใช้ดุลพินิจเห็นชอบบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นความเห็นชอบอยู่ที่คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม เป็นสิ่งที่วุฒิสภาให้ความสำคัญตลอด นายกรัฐมนตรีที่จะเข้าไปบริหารประเทศต้องมีความชัดเจนที่จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น ไม่ปกป้องสถาบัน และหากพูดถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นวาระสำคัญที่ต้องแก้ไขหรือไม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมีความตระหนักว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านเมืองก่อนการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เกิดจากเหตุผลว่าให้เป็นสากล ไม่ได้เกิดเป็นเหตุผลว่าต้องสร้างแนวทางกฎหมายเป็นเพียงปกป้องดูแลประชาชนที่ถูกกันแกล้งในทางการเมือง หรือทางคดีต่างๆ ดังนั้น คนที่จะมาบริหารประเทศต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ซึ่งตัวเลขของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการยุยง เสนอแนวคิดให้ละเมิดจาบจ้วงสถาบันเป็นคดีมากมาย อีกทั้งยังใช้สถานะ ส.ส. ไปรับรองขอประกันตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งหากจะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ควรออกมาห้ามปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ดังนั้น สิ่งที่ทำมาปรากฏชัดเจนว่าเป็นการล้มล้าง หากเป็นเช่นนี้จะให้วุฒิสภาสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะผิดวิสัย
“ตนขอพูดเผื่อเอาไว้เลยว่า หากตนพูดแล้ว ท่านอยากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วมาพูดว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 หรือจะไม่ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว อยากพูดก็พูดมาแต่ตนไม่เชื่อแล้ว เพราะตนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมาเป็นประวัติศาสตร์ยาวนาน จะมาพูดคำเดียวว่าตนไม่แก้ 112 แล้ว ตนคิดว่ามันเป็นการหลอกลวง วันนี้พูดแบบนี้ วันหน้าไม่กลับมาแก้อีกหรือ สิ่งที่ตนพูดไม่ได้ เกิดจากความไม่ชอบ และรู้สึกไม่ดี แต่เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา ที่ถูกพูดจาด่าทอ และอดทนเพื่อปกป้องสถาบัน และเสี่ยงที่จะลงคะแนนเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเราไม่ได้คิด ที่จะไม่ให้ความเคารพประชาชนและหลังจากลงมติไปแล้วหากได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนจนทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตนก็ยินดี แต่หากเสียงไม่ถึง ท่านต้องไม่แสดงพฤติกรรมการกระทำใดๆ ที่จะไปปลุกม็อบ ไปเรียกร้องไปดำเนินการใดๆ ให้คนในประเทศนี้ออกมาสนับสนุนผลักดันให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะนี่เป็นกติกาตามรัฐธรรมนูญ และหากสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อยไม่ใช่ใครอื่น มันเกิดจากที่พวกท่านไปยุยงส่งเสริมประชาชนให้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย“ นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า เสียงในการลงคะแนนมติต่างๆ อยากจะขอกราบเรียนด้วยความเคารพ ว่าเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้คิดที่จะไม่ให้ความเคารพพี่น้องประชาชน หลังจากลงมติไปแล้วถ้าได้เสียงประชาชนสนับสนุนจนเกิดให้ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็ยินดี แต่ถ้าหากเสียงไม่ถึงก็ต้องกราบเรียนด้วยความเคารพ ว่าท่านจะต้องไม่แสดงพฤติกรรมการกระทำใดๆ ที่จะปลุกม็อบ ไปเรียกร้องไปดำเนินการใดๆ ให้คนในประเทศนี้ออกมาสนับสนุน ผลักดัน เรียกร้องให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการโหวตเป็นกติกาทางรัฐธรรมนูญ หากว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อยไม่ใช่ใครอื่น มันเกิดจากที่พวกท่านไปยุยงส่งเสริมประชาชนให้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย
“มีประชาชนมาเรียกท่านนายกพิธา ตนก็เห็นว่าเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชน เป็นความรัก เป็นความเชื่อ เป็นความศรัทธา แต่พออยู่ในกระบวนการในการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ความประพฤติ ตนไม่อยากเห็นภาพที่นายพิธาเดินลงพื้นที่ และมีประชาชนมาก้มกราบท่าน ทั้งที่ยังไม่เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ตนได้คิดว่าสิ่งที่ปรากฏ อันเกิดจากการที่ประชาชนเขาอยากจะกราบจริงหรือ หรือจ้างคนมา ซึ่งมันไม่ควร สิ่งที่เกิดขึ้นเอาเด็กมาขึ้นเวทีเชียร์ อายุ 10 ขวบเชียร์ ทางวุฒิสภา ตนรู้สึกว่าตนลำบากเหมือนกันนะครับ ไม่ปลอดภัยเหมือนกัน คนที่เชียร์นายพิธา ถ้าฟังแล้ว จะเลือกคนที่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญกระทำการอันเป็นการที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 ให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะฉะนั้นขอให้นำเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณา ก่อนที่จะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนช่วยกันสนับสนุนให้เป็นนายกอีกครั้ง ตนไม่เห็นด้วยที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นผู้บริหารประเทศหรือเป็นนายกรัฐมนตรี” นายเสรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย