กรุงเทพ 16 ก.ค.- ราช กรุ๊ป – SPI พร้อมลงทุน SMR ในนิคมอุตสาหกรรมทันทีที่รัฐเปิดโอกาส ปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา “Thailand’s SMR Energy Forum – A Global Dialogue on SMR Deployment” แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor: SMR) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทยในปี 2608 การสัมมนาในครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำ SMR มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการออกแบบ การจัดการเชื้อเพลิงและซัปพลายเชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎระเบียบและการกำกับดูแล การลงทุน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน SMR และการสร้างการยอมรับของสังคม เป็นต้น
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ หรือ SMR เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากไฟตก หรือไฟดับในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งนานาประเทศได้ขานรับกันอย่างกว้างขวางและมีการพัฒนาเทคโนโลยี SMR รุดหน้าเป็นอย่างมาก ขณะที่ประเทศไทยก็มีแผนที่จะนำ SMR เข้ามาใช้ โดยมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยราช กรุ๊ป และ SPI เห็นตรงกันในการลงทุน SMR ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และดึงการลงทุน โดยมีเป้าหมายติดตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นพื้นที่ไหนและกำลังผลิตเท่าไหร่นั้นต้องรอการศึกษาความเหมาะสม แต่มั่นใจนักลงทุนต้องการไฟฟ้าสะอาดและเสถียร ซึ่งทางราช กรุ๊ป และ SPI พร้อมลงทุมทันทีหากรัฐบาลเปิดโอกาส


นายวิชัย กุลสมภพ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยี SMR อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในระดับโลกถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตในประเทศไทย แม้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผน ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย การกำกับดูแล การคัดเลือกเทคโนโลยี การเลือกพื้นที่ติดตั้ง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPI ในฐานะภาคเอกชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง เล็งเห็นว่า อนาคตของพลังงานไม่ควรพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป การหาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Carbon Neutrality และพลังงานสีเขียว การเปิดเวทีระดับนานาชาติในวันนี้ จึงเป็นก้าวแรกของความร่วมมือที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตพลังงานของไทย. -517-สำนักข่าวไทย