นิด้า10 เม.ย.-นักวิชาการห่วงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ของเพื่อไทย เป็นอันตรายกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าหาเงินชดเชยไม่ทัน อาจทำเงินเฟ้อ ชี้จับเสือมือเปล่า หวังคะแนน
นายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล กล่าวถึงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า เป็นนโยบายที่หวังคะแนน และเชื่อว่าน่าจะได้คะแนนเพราะไม่มีใครไม่อยากได้ของฟรี และการที่ให้คนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเป็นการเน้นเอาคะแนนจากเด็กแน่นอน ขณะเดียวกันก็หวังกลุ่มคนสูงอายุที่อยู่บ้านอยู่ดี ๆ ก็มีเงินหมื่นเข้ากระเป๋า ซึ่งเป็นนโยบายที่เสี่ยง เสมือน “จับเสือมือเปล่า” เพราะเป็นการนำเงินใส่เข้าไปในระบบ
“แจกคนทุกกลุ่ม ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวนมาก ให้ใช้ในระยะ 4 กิโลเมตร ของที่อยู่ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ด้วยความหวังว่าผ่านไป 6 เดือนจะมีเงินหมุนกลับเข้ามา แต่หากผ่านไป 6 เดือนแล้วเศรษฐกิจไม่หมุนหรือเงินไม่หมุนกลับเข้ามาตามยอดที่ออกไป ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ ถ้า 6 เดือนไม่สามารถเอาเงินใส่เข้ามาในระบบได้เหมือนไม่สามารถเอาอาหารให้เสือได้ การจับเสือมือเปล่าเช่นนี้อาจตายได้ เพราะอาหารไม่มี และผมเชื่อว่าถ้า 6 เดือนหาเงินไม่ได้ปรับ vat กลับไปที่เดิมแน่นอน 10%” นายสุวิชา กล่าว
ด้านนายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะการโยนเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ต้องทำตามนโยบายนี้แล้วคาดหวังว่าจะเก็บรายได้ได้มากขึ้น ถือว่ามีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก จึงฝากไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นหน่วยงานที่ทำให้เรื่องนี้กระจ่างต่อสังคม โดยเชิญนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน รวมถึงสมาคมธนาคาร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยมาหารือ และนำผลการสังเคราะห์ของหน่วยงานเหล่านี้มาเปิดเผยต่อสังคมว่า นโยบายนี้เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้เกิดความกระจ่างในสังคม และกระบวนการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
ขณะที่นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ถ้าเทียบกับนโยบายบัตร “ลุงตู่” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีแนวคิดคล้ายกัน คือโอนเงินไปให้ประชาชนใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เป็นนโยบายที่จำกัดกลุ่มเป้าหมายเป็นการเฉพาะ เช่น ให้เฉพาะคนจนหรือจำกัดจำนวนการให้ แต่นโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นการให้ทั่วไป จำกัดเพียงอายุซึ่งเท่ากับทุกอาชีพ ทุกฐานะได้หมด ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบตามมาอย่างรุนแรงหากหาเงินไม่ทัน จึงห่วงว่านโยบายดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ และพอเงิน 10,000 บาทที่นำมาแจกหมดไปแล้ว จะทำอย่างไร เมื่อราคาสินค้าปรับตัวขึ้น
“แต่วิธีการใช้ยากกว่า เพราะมีเงื่อนไขการใช้จ่ายซับซ้อน ทำให้มีคำถามมากมายในการปฏิบัติ ซึ่งมองว่านโยบายใดก็ตามที่คนตั้งคำถามมาก ๆ ความขลังจะลดลง ซึ่งอาจทำให้คะแนนของพรรคเพื่อไทยลดลงด้วยซ้ำ เพราะพรรคเพื่อไทยมีฐานที่มั่นคงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน และมีนโยบายที่ตอบสนองคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว เช่นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลาง ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง หากมาเจอนโยบายเช่นนี้อาจต้องคิดหนัก และอาจเปลี่ยนใจไม่เลือกเพื่อไทยก็ได้ วันที่ 16 เมษายนนี้ นิด้าโพลจะเปิดเผยผลการสำรวจความนิยมทั่วประเทศอีกครั้ง จะทราบว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประกาศออกมามีผลแค่ไหนอย่างไร” นายพิชาย กล่าว.-สำนักข่าวไทย