ศาลปกครอง 30 มี.ค.- ศาลปกครองสูงสุดนัด 7 เม.ย. ตัดสินคดีแบ่งเขต กทม. “อรรถวิชช์” ระบุ กกต.จงใจละลายเขตเลือกตั้งด้วยระเบียบส่วนต่าง ชี้หากแบ่งเขตใหม่ไม่กระทบวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. แต่ไทม์ไลน์เปลี่ยนแน่
ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ จาก จ.สุโขทัย นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุโขทัย นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สกลนคร ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.66 โดยการไต่สวนในส่วนของ กกต. นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง นำทีมผู้บริหารสำนักงานเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง
ภายหลังการไต่สวน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง นายอรรถวิชช์ เปิดเผยว่า ในการไต่สวน ตนได้ให้ข้อมูลต่อศาลไปว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ใน กทม. 33 เขตเลือกตั้งที่ไม่เหมือนเดิม 29 เขตเลือกตั้ง เป็นความตั้งใจของ กกต. ถือเป็นการทำลายระบบตัวแทน ทำให้ความผูกพันระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชนในพื้นที่ห่างออกไป เป็นกลจักรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ กกต.ยืนหลักเอาผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ย ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน เป็นตัวตั้ง และเกณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์ จะมีมานานแล้ว แต่ก็เพิ่งใช้เป็นครั้งแรกกับ กทม. ซึ่งที่น่าแปลกใจ คือ ในการชี้แจงของ กกต. ในวันนี้ (30 มี.ค.) พบว่า กกต.ไม่ได้ใช้เกณฑ์ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้เกณฑ์ 5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำ เกณฑ์ดังกล่าวทำให้เขตเลือกตั้งเดิมทั้งหมดถูกสลายไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของ กกต. จากนี้ต้องวัดใจว่า ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยตาม กกต.หรือไม่ และเป็นอำนาจของ กกต.หรือไม่
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า สำหรับพรรคการเมือง มองว่า นี่ไม่ใช่วิถีทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เพราะเป็นการทำลายระบบตัวแทน อย่างไรก็ตาม หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะไม่มีผลกระทบต่อกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 เพียงแต่มีผลต่อการทำไพรมารีโหวตของแต่ละพรรคการเมือง และการรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเลื่อนไปวันที่ 14-18 เม.ย.66 และขยายวันเลือกตั้งล่วงหน้าออกไป จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับ แต่วันเลือกตั้งไม่ขยับ
“เกณฑ์ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างราษฎรกับ ส.ส. 1 คน เกณฑ์นี้ กกต.เพิ่งใช้ครั้งแรก ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. เมื่อก่อนใช้กับการปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอื่นๆ ในอดีต แต่ไม่ใช้ใน กทม. อย่างการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา แต่ กกต.เลือกใช้ในครั้งนี้ เพื่อสลายเขตเลือกตั้งเดิม มีเพียง 4 เขตเท่านั้นที่เหมือนเดิม ถ้าหาก กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดำเนินการหั่นเขต ก็แปลว่าการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพียง กกต.แก้ระเบียบขับตัวเลขเปอร์เซ็นต์ ก็จะสลายเขตทันที” นายอรรถวิชช์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการไต่สวนในคดีที่เหลืออีก 3 คดี คือ การร้องคัดค้านเขตเลือกตั้งที่ จ.สุโขทัย และสกลนคร ซึ่งมีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 4 เม.ย.66 เวลา 09.30 น. และนัดอ่านคำพิพากษาทั้ง 4 คดี ในวันที่ 7 เม.ย.66 เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส.ทั้งสองแบบ.-สำนักข่าวไทย