โรงแรมโอโซ่ นอร์ธ พัทยา 25 ม.ค.-เลขาธิการกกต. ชี้ต้องมีเวลา 45 วันหลังกฎหมายลูกประกาศใช้ ก่อนยุบสภา-ครบวาระสภา เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำไพรมารีโหวต หวั่นยุบสภาก่อนมีเขตเลือกตั้ง จะรับสมัครไม่ได้
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดอบรมตามโครงการเสริมสร้างการปฏิบัติงานเกี่ยวกับพรรคการเมืองให้แก่พนักงานสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ประจำปี 2566 โดยมีนายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของสำนักงานกกต.ประจำจังหวัดที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพรรคการเมือง และบุคลากรช่วยปฏิบัติงานโครงการตรวจติดตามการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ในงานพรรคการเมือง ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวว่า เราจะรับมือการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร อายุสภาจะครบวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งตามแผนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 7 พฤษภาคม แต่ก่อนที่อายุสภาจะครบ เราต้องมีเขตเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี และก่อนมีเขตเราต้องมีกฎหมายและระเบียบ ขณะนี้สำนักงานกกต.ร่างระเบียบไว้หมดแล้ว
“แม้ทุกอย่างจะพร้อม แต่ต้องรอกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ เราจะมีเวลา 25 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพื่อแบ่งเขต ขณะที่จังหวัดจะมีเวลาแบ่งเขต 5-7 วัน นับจากอายุสภาสิ้นสุดลง รับฟังความเห็นประชาชนและพรรคการเมืองภายใน 10 วัน ขั้นตอนการพิจารณาของกกต.อีก 7 วัน รวม 25 วัน ถ้ายุบสภาช่วงนี้ก็หวาดเสียวเหมือนกันเพราะจะไม่มีเขตและสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้เลย” เลขาธิการกกต. กล่าว
นายแสวง กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองเองต้องทำไพรมารีโหวต 6-7 ขั้นตอน ประมาณ 20 วัน จึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ โดยตามข้อมูลขณะนี้มีพรรคที่มีสาขาหรือตัวแทนครบทุกจังหวัด ซึ่งจะส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตเพียง 3 พรรคทั้งนี้ หากพูดตามทฤษฎีเราต้องมีเวลา 25 + 20 วันก่อนสภาหมดวาระ จึงจะทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อย โดย 45 วันดังกล่าวจะต้องนับจากวันที่มีกฎหมายมีผลใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา แต่ขณะนี้กฎหมายยังไม่ออก ซึ่งไม่ทราบว่าจะนับวันไหน
เลขาธิการกกต. กล่าวว่า มีความกังวลอยู่เหมือนกันว่า เราจะมีเวลา 45 วันก่อนครบวาระสภา หรือยุบสภาหรือไม่ ถ้าจะให้การเลือกตั้งปลอดภัย ต้องนับจากวันที่ 23 มีนาคม ย้อนขึ้นมา 45 วัน และถ้ายุบสภาจะเร็วขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ถ้ากฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วยุบสภาเลย เราจะไม่มีเวลาทำงานเลย เพราะหลังยุบสภา 5 วัน ต้องเปิดรับสมัคร แต่เรายังไม่มีเวลาแบ่งเขต และพรรคการเมืองเองก็จะไม่มีเวลาทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางการเมือง สำนักงานกกต.ไม่ได้อยู่เฉย เราบอกเรื่องข้อกฎหมาย ความจำเป็นในการเตรียมการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ทางการเมืองหากจะยุบสภา ก็เป็นเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งทางสำนักงานกกต.พยายามเตรียมการไว้
“ความยากในการรับสมัครครั้งแรก ก็เห็นใจจังหวัดที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการแบ่งเขต แต่เลือกตั้งไม่มีเขตมันเดินต่อไม่ได้เลย เพราะเขตเป็นบ่อเกิดของทุกอย่าง พรรคการเมืองต้องมีเขตเพื่อทำไพรมารีโหวต เพื่อส่งผู้สมัครและหาเสียง กกต.ต้องหาคนทำงานในเขต ซึ่งหวังว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราทำงานได้ง่าย เราขอแบบนี้ ไม่ได้ขอเพื่อให้พรรคไหนได้เปรียบ แต่ขอให้การเลือกตั้งเรียบร้อยตั้งแต่ต้น เพราะถ้าไม่เรียบร้อยและมีปัญหา จะเป็นเงื่อนไขมาถึงเรื่องอื่น” นายแสวง กล่าว
เลขาธิการกกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะง่ายกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยกติกาที่เปลี่ยนไป การเมืองที่เปลี่ยนไป แม้การแข่งขันจะสูสีเข้มข้น แต่เงื่อนไขเอื้อต่อการทำงานของกกต.มากขึ้น โดยสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความน่าเชื่อถือต้องทำคือการทำหน่วยเลือกตั้งให้ดีในช่วงเวลา 12-15 ช.ม.ตั้งแต่เปิดหีบนถึงการรายงานผลคะแนน ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพ การจัดการที่ดี โปร่งใส ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ละตรวจสอบได้หากเกิดปัญหา
“ส่วนเรื่องการรายงานผลคะแนนต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด รายงานผลให้ดี กรอกคะแนนไม่ให้ผิด และยังมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนประเมินความพึงพอใจหลังการใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย การได้รับการยอมรับจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ยาก เพราะมีผู้สมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องที่จับได้ยากเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใต้ดิน ต้องอาศัยเรื่องการข่าวและการทำสำนวนที่ดี” นายแสวง กล่าว.-สำนักข่าวไทย