รัฐสภา 29 ธ.ค.-“สมศักดิ์” ตอบกระทู้สด ยอมรับ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หละหลวมจนเกิดเหตุ “ประสิทธิ์ เจียวก๊ก” ปลอมตัวหลบหนี ระบุ คณะกรรมการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลส่งวันนี้ ยืนยันให้ความเป็นธรรมผู้ต้องหาทุกคน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีการหลบหนีของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน ที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลเป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม กรณีกรมราชทัณฑ์จะตรวจสอบความจริงภายใน 7 วัน แต่ครบกำหนดแล้วยังไม่มีความคืบหน้า จึงต้องการสอบถามว่า ขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ในส่วนของตำรวจที่จับผู้เกี่ยวข้องได้แล้ว 4 คน แต่วันควบคุมตัว ทำไมผู้คุมไม่ใส่เครื่องแบบในการควบคุมตัวนักโทษ กลับใส่สูท ไม่ใช่เครื่องแบบปกติ และเหตุใดนายประสิทธิ์ จึงเข้าห้องน้ำที่ชั้น 9 ได้ ทั้งที่เป็นห้องน้ำสำหรับผู้มาติดต่อราชการ ต่างจากนักโทษทั่วไปที่ต้องลงไปเข้าห้องน้ำเฉพาะสำหรับผู้ต้องหาในชั้นใต้ถุนศาล
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า เมื่อนำนายประสิทธิ์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณาที่ชั้น 9 นายประสิทธิ์ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าปวดท้องหนัก เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจให้เข้าไปใช้ห้องน้ำสำหรับผู้มาติดต่อที่ศาล จากนั้นพานายประสิทธิ์กลับเข้าห้องพิจารณา ซึ่งนายประสิทธิ์ได้พูดคุยกับกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจ ว่า “จะมีคนได้ถูกปล่อยตัว มีเสื้อผ้ามาให้หรือยัง” และหลังจากออกจากห้องพิจารณา นายประสิทธิ์ได้ขอเข้าห้องน้ำอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จึงให้เข้าห้องน้ำชั้น 9 เช่นเดิม และเกิดหลบหนี โดยผู้ต้องหาเปลี่ยนเสื้อผ้า ทำให้ผู้คุมไม่ได้สังเกตว่าปลอมตัว
“ส่วนคำถามที่ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไม่แต่งเครื่องแบบตามปกติ ขอแจ้งว่า เจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบปกติแต่ใส่เสื้อคลุมไว้ ส่วนจะเป็นการพรางตัวหรือไม่คณะกรรมการที่สอบเรื่องเหล่านี้จะสรุปผลสอบวันนี้ ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบที่ไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
นางอมรรัตน์ ตั้งคำถามอีกว่า กุญแจปลดเครื่องพันธนาการเอามาจากไหน ทำไมถึง 2 มาตรฐานในการควบคุมตัว เช่น คดีของกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เคยได้เข้าห้องน้ำชั้น 9 หรือใครอ้างความจงรักภักดี ก็จะตามใจมากกว่าปกติ และไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร นอกจากนี้ เลขานุการประธานสภาฯ ยังได้ให้สัมภาษสื่อมวลชนว่า นายประสิทธิ์ ได้สื่อสารจดหมายออกมาจากเรือนจำมากกว่า 231 ฉบับและมีฉบับหนึ่งได้บอกให้เครือข่ายของตนเองไปที่วัดบัวขวัญ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เดินทางไปที่วัด โดยสั่งให้เครือข่ายไปขอบคุณอธิบดีที่ให้การดูแลนายประสิทธิมากเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้อธิบดียืนยันว่า ไม่ได้พบกับบุคคลที่กล่าวอ้าง แต่ก็น่าสังเกตว่าหากเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ทำไมอธิบดีจึงไม่ฟ้องร้องหรือดำเนินการกับเรื่องนี้
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เรื่องกุญแจปลดพันธนาการ นายประสิทธิ์รับสารภาพแล้วว่า ได้ปลดกุญแจในจุดควบคุมแดนกลาง แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะเป็นความหละหลวม ทาง ราชทัณฑ์ต้องตั้งกรรมการสอบผู้ดูแล แต่ยืนยันว่า ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาทุกคน และอำนวยความสะดวกให้ได้ดีที่สุด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชังหรือต้องเป็นคนจงรักภักดี คิดว่าไม่ควรจะกระแนะกระแหนกันอย่างนี้ ส่วนการสอบข้อเท็จจริง วันนี้เป็นวันสุดท้ายเพื่อสรุปและรวบรวมส่งอธิบดี
นางอมรัตน์ กล่าวว่า นายสมศักดิ์ อาจจะเข้าใจตนผิด ตนไม่ได้กระแนะกระแหน แต่เปรียบเทียบให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติของเรือนจำ ถ้าเข้าใจว่ากระแนะกระแหน อาจจะมีอคติกับคำถามนี้หรือไม่ ส่วนเรื่องกุญแจเป็นไปไม่ได้ที่จะปลดมาก่อน จึงขอทราบว่าใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ พร้อมเสนอแนะกระทรวงยุติธรรมโดยเฉพาะเรือนจำกลาง ซึ่งเป็นกรมที่ใหญ่ที่สุดในกระทรวงและได้งบมากที่สุด แต่กลับเป็นกรมที่โปร่งใสน้อยที่สุด เป็นแดนสนธยาที่ตรวจสอบยากที่สุด มีอำนาจนิยมมากที่สุด เอื้อให้ทุจริตได้ง่ายและตรวจสอบได้ยากที่สุด หรือแทบจะตรวจสอบไม่ได้
“ขอสอบถามว่าเรื่องแรงงานทาสในเรือนจำ มีระบบการจ่ายเงินที่เป็นธรรมหรือไม่ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังหรือไม่ นายสมศักดิ์เคยทำงานเชิงรุก เรื่องสิทธิเสรีภาพหรือไม่ มีแนวคิดให้นักโทษมีสิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่ และมีวิสัยทัศน์อย่างไร ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในเรือนจำ” นางอมรัตน์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เรื่องกุญแจ ในเรือนจำกลางมีที่เก็บ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่ผู้คุมเผลอแล้วแอบหยิบกุญแจออกไปด้วย ส่วนแรงงานในเรือนจำนั้น เรามีการจัดค่าแรงขั้นต่ำให้ผู้ต้องขัง ส่วนเสรีภาพของผู้ต้องขัง ตนก็อยากทำให้ แต่คงทำไม่ทัน ถ้าผู้ต้องขังมีสิทธิเลือกตั้งได้ ตนคงได้คะแนนมาก เพราะตนดูแลผู้ต้องขังอย่างดี แต่คงทำไม่ได้เพราะมีเงื่อนไขอะไรหลายอย่าง ส่วนการคืนคนดีสู่สังคม ตนมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้มาก ผู้ต้องขังจะกระทำผิดซ้ำมีน้อย
“เหตุผลหลักที่กระทำผิดซ้ำ คือความยากจน จึงเกิดโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ยอมให้นักโทษที่เหลือโทษน้อย พักโทษเข้าไปทำงาน ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าจังหวัดใดสามารถทำได้บ้าง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ และให้นักโทษติดกำไรอีเอ็ม เพราะรู้แล้วว่า การปรับเปลี่ยนนิสัยในทางทฤษฎีหรือสอนอย่างเดียว เป็นไปได้ยาก จึงสร้างอาชีพจากการให้ไปทำงานที่นิคม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายสมศักดิ์กำลังกล่าวตอบกระทู้อยู่นั้น คาดว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน ทำท่าทีไม่สุภาพ จนทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวก่อนจะจบการตอบคำถามว่า “ถ้าเราให้เกียติกันในการทำงานในสภาฯ การนั่งส่ายหน้าหรือมีความรู้สึกที่ไม่สุภาพ เป็นการไม่ให้เกียรติสภา เราตั้งใจทำงานด้วยกัน แต่ไม่น่าจะทำความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม”.-สำนักข่าวไทย