ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ 17 พ.ย.-รัฐมนตรีเอเปคหารือเต็มคณะ มุ่งเป้าหมายกรุงเทพฯ เศรษฐกิจ BCG การเติมโตอย่างสมดุล ยั่งยืน เตรียมออกแถลงการณ์ ขับเคลื่อนการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปค แบบเต็มคณะ โดยเชิญองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมสังเกตุการณ์ ทั้งเลขาธิการอาเซียน สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค เวทีความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (PECC) หมู่เกาะแปซิฟิค
ทั้งนี้ หลังจากเวทีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค มีฉันทามติเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคแล้ว วันนี้(17 พ.ย.) จึงนำร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ 4 เป้าหมายประกอบด้วย 1. การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 4. การลดและบริหารจัดการของเสีย และแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ด้วยการวางกรอบ ระเบียบ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การเสริมสร้างศักยภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน
การประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 นี้ เดินหน้าดันแผนงานขับเคลื่อนการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อออกแถลงการณ์ร่วม เน้นตอบโจทย์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้าการลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล มุ่งเป้าขยายและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค สำหรับแผนงาน FTAAP ประกอบด้วย การรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤต ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP อาทิ การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน
ปัจจุบันสมาชิกเอเปคอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน FTAAP ระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566 – 2569 มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดือนพ.ย.นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคต่อไป
สำหรับแนวคิด FTAAP เกิดจากข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ต่อผู้นำเอเปค เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่การผลักดัน FTAAP ยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ เป็นช่วงที่สมาชิกเอเปคเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเปิดเสรี ลดอุปสรรคการค้าการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ นับว่าเขตเศรษฐกิจเอเปคจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
เอเปค ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มี GDP รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP โลก นอกจากนี้ การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปคและไทย เนื่องจากไทยยังไม่มี FTA กับสมาชิกเอเปค อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และเม็กซิโก
ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท (195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 6 ล้านล้านบาท (190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 10.7 ล้านล้านบาท (314 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 5.2 ล้านล้านบาท (155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 5.4 ล้านล้านบาท (158 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ). – สำนักข่าวไทย