เชียงราย 3 พ.ย.- กมธ.ดีอีเอส จับมือ “เทโร สเปซ” เตรียมติดตั้งอุปกรณ์รับมือภัยพิบัติ จ.เชียงราย พลิกมิติการทำเกษตรกรรม รู้ผลผลิตล่วงหน้า 5-10 ปี
คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ดีอีเอส) นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. ลงพื้นที่บ้านห้วยมะเกลี้ยง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อติดตามผลการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ติดตามสภาวะอากาศและการประเมินผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ร่วมลงพื้นที่ด้วย
กมธ.ดีอีเอส ยังได้พบปะนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยง บ้านห้วยทราย และบ้านแม่ห่าง เพื่อสอบถามผลการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือภายหลังการติดตั้งเสาสัญญาณ และเตรียมดำเนินการต่อยอดพัฒนาติดตั้งอุปกรณ์วิเคราะห์และวิจัยสภาพภูมิอากาศเชิงลึก เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ปัญหาภัยพิบัติ อาทิ น้ำหลาก น้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่นควัน รวมถึงการประเมินผลผลิตทางการเกษตร เพื่อประโยชน์ในการทำอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกชา กาแฟ อโวคาโด ให้สามารถเพิ่มผลผลิตและรับมือกับสภาพอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะปลูกล่วงหน้า
ทั้งนี้ ชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยงต่างขอบคุณ กมธ.ดีอีเอส ที่ทำให้ชีวิตของชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยงเปลี่ยนแปลงไป จนปัจจุบันสามารถติดต่อโลกภายนอกได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป และสามารถทำการค้าขายสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนได้ ขณะที่ ชาวบ้านห้วยทรายและบ้านแม่ห่าง ต่างร้องขอให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อได้รับความสะดวกเช่นเดียวกับชาวบ้านห้วยมะเกลี้ยง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ รับปากชาวบ้านใน 2 หมู่บ้านว่า จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อทำให้ชาวบ้านมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใช้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป พร้อมจะเร่งต่อยอดการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการประเมินสภาพดินฟ้าอากาศให้กับชาวบ้าน เพื่อประโยชน์ในการทำอาชีพในพื้นที่
และความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งหลังจากที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป ทำให้มีองค์กรด้านป้องกันภัยพิบัติได้ติดต่อเข้ามา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา พัฒนาและอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน อาทิ องค์กรนาซ่า โครงการอาเซียน เพื่อดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและการทำเกษตรกรรม ด้วยการวิเคราะห์อากาศและภาพถ่ายทางดาวเทียมในเชิงลึก ที่คาดการณ์แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะมีประโยชน์ด้านการแจ้งเตือนภัยพิบัติและการทำอาชีพเกษตรกรรมล่วงหน้า
ด้านนายบวรรัตน์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท เทโรสเปซ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในกิจการอวกาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ต้องการนำแพลตฟอร์มของเทโรสเปซ (TeroSpace) มาต่อยอดเพื่อทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการสำรวจ วิเคราะห์และคำนวณสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาภัยพิบัติ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนใช้ประเมินผลผลิตทางการเกษตรภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปเป็นข้อมูลหลักฐาน เพื่อให้ธนาคารใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยเงินกู้ได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่แฟลตฟอร์มดังกล่าวนานแล้ว.-สำนักข่าวไทย