ศาลปกครอง 14 ก.ย.-ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนมติปลด “สมชาย” ออกจากราชการ สมัยนั่งปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้ ป.ป.ช.ใช้อำนาจโดยมิชอบ เจ้าตัวได้ความยุติธรรมคืน หลังสู้มา 20 ปี
ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 ที่ลงโทษปลดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ออกจากราชการ รวมทั้งเพิกถอนมติการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เรื่องดำ 5210006 เรื่องแดงที่ 0012155 และเพิกถอนมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 61/2551 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ที่ลงมติว่า นายสมชายกระทำผิด
คดีนี้นายสมชาย ยื่นฟ้องกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงแรงงาน (อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน) คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5 กรณีกระทรวงแรงงานมีคำสั่งที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 มกราคม 2552 ลงโทษปลดนายสมชายออกจากราชการ โดยอ้างว่าเหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีกับนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 70 ล้านบาท จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี ทั้งที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่า การคืนเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ทางราชการเสียหาย
ส่วนที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอน ให้เหตุผลว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 อีกทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มิใช่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ การที่ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ชี้มูลว่า นายสมชายกระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จึงไม่มีอำนาจกระทำได้
เมื่อ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดของนายสมชาย ดังนั้น มติของ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 61/2551 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2551 จึงมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2542 หากต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายสมชาย ตามที่ ป.ป.ช.มีมติว่ากระทำความผิด ประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เพื่อให้นายสมชาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและมีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอน
แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีคำสั่งกระทรวงแรงงานลงโทษปลดนายสมชายออกจากราชการ ตามมติ ป.ป.ช.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง คำสั่งทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนวิธีการที่เป็นสาระสำคัญในการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการพลเรือน ตามมาตรา 102 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535 จึงย่อมมีผลทำให้การที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมมีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของนายสมชาย ด้วยเหตุเดียวกันไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงาน และคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่คำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลบังคับ
นายสมชาย กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ได้รับความเป็นธรรมจากศาลปกครองสูงสุด ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนตนเลย และให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่สั่งให้ตนออกจากราชการ ซึ่งดีใจมาก เพราะตนเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตมาโดยตลอด ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อยอะไรเลย แต่ชื่อเสียงต้องมาเสียไปตลอดมา 20 ปีกับเรื่องที่ไม่สมควร วันนี้จึงถือว่าได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา ได้กลับมาเป็นข้าราชการที่บริสุทธิ์
“ผมเป็นคนอะไรให้อภัยได้ก็ให้อภัย ไม่ได้มีความรู้สึกอาฆาตมาดร้าย แต่คดีนี้ทำให้ผมซึ่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านความยุติธรรม ต้องตกมาเป็นผู้ที่ถูกไล่ออก เพราะถูก ป.ป.ช.ชี้ว่าผิดวินัยร้ายแรง ประมาทเลินเล่อ ถือว่าร้ายแรงที่สุดของคนที่เป็นข้าราชการ แต่วันนี้ถือว่าได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา ขอดูคำพิพากษาก่อนว่าจะสามารถพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายได้อย่างไร” นายสมชาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายสมชายมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมเดินทางมารับฟังด้วย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 5 ในคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต และพวก ในคดีร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา จากการทำความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ กับพวก ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่นายธาริตไม่ไปศาล โดยแจ้งว่าติดโควิด-19.-สำนักข่าวไทย