กรุงเทพฯ 18 ส.ค.- กทพ. ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้นำทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษบูรพาวิถี เข้าสู่มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ กทพ.
ทางพิเศษฉลองรัชได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 1996 มาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2543 จากนั้นได้นำทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เข้าระบบฯ และได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2004 ของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ต่อมาในปี 2559 กทพ. ได้ขยายขอบข่ายของระบบฯ โดยนำทางพิเศษบูรพาวิถีเข้าสู่ระบบฯ และได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2015 ของทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษบูรพาวิถี รวมระยะทางทั้งสิ้น 87.9 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา
ในปีนี้ (วันที่ 9-10 สิงหาคม 2564) สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 ได้ทำการตรวจประเมินเพื่อติดตามผลการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 ประจำปี 2564 ของทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ ทางพิเศษบูรพาวิถี และการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
– อาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช อาคารซ่อมบำรุง อาคารคลังวัสดุ อาคารสำนักงานต่างๆ รวมถึงอาคารศูนย์ฝึกอบรมการกู้ภัย กทพ.
– ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 14 ด่าน
– อาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษบูรพาวิถี
– ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 20 ด่าน
– พื้นที่ใต้ทางพิเศษฉลองรัช พื้นที่ใต้ทางแยกต่างระดับอาจณรงค์ พื้นที่เวนคืนเพื่อชดเชยผิวจราจร (ทางเข้าสุวรรณภูมิและทางลงชลบุรี)
สำหรับแผนงานสิ่งแวดล้อมประจำปี 2564 จากการเก็บข้อมูลพบว่าเกือบร้อยละ 50 ของอุบัติเหตุบนทางพิเศษมีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความเร็วสูง การเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน กทพ. จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้บนทางพิเศษ โดยการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) กล้องตรวจจับความเร็ว และกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องฉุกเฉิน) ตามจุดต่างๆ ของทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษบูรพาวิถี เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดและป้องกันอุบัติเหตุบนทางพิเศษที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จากการตรวจประเมินพบว่าผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานตามระบบที่ สรร. กำหนด พร้อมทั้งมีการถ่ายทอด บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปยังพนักงานและลูกจ้าง กทพ. ที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทำให้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและมีผลการดำเนินงานโดยรวมที่ดี
ด้วยภารกิจ วิสัยทัศน์ และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นให้พนักงานและลูกจ้าง อำนวยการและปฏิบัติงานอย่างจริงจังในการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานสากล ISO 14001 : 2015 ตามขอบเขตของทางพิเศษที่ระบุไว้ในคู่มือสิ่งแวดล้อม ด้วยจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยของพนักงาน ลูกจ้าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชน รวมถึงการปรับปรุงการปฏิบัติงานการควบคุมผลกระทบเนื่องจากกิจกรรม การบริการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการจราจรและขนส่งที่ยั่งยืน และ กทพ. จะยังคงมุ่งมั่นในการนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมไปใช้ควบคู่กับการพัฒนาการทำงานตามบทบาทหน้าที่ และ ภารกิจให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างสูงสุดและมีประสิทธิภาพต่อไป.-สำนักข่าวไทย