ข้อมูลจากระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วย “โรคความดันเลือดสูง” ที่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7.4 ล้านคน
“ความดันเลือดสูง” เป็นโรคที่มักถูกเรียกว่า “ฆาตกรเงียบ : Silence Killer” ช่วงแรกไม่แสดงอาการ แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ ระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ส่งผลให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้ การตรวจพบความดันเลือดสูงจึงมีความสำคัญมาก
“วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว : Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer” คือข้อความที่สมาพันธ์ความดันเลือดสูงโลก (World Hypertension League) สื่อสารถึงทุกคนเนื่องในวันความดันเลือดสูงโลก (World Hypertension Day) 17 พฤษภาคมของทุกปี แต่ชีวิตจริงของคนเรา “ความดันเลือดมีความสำคัญทุกวัน” สามารถวัดความดันเลือดทุกวัน (ทั้งเช้าและเย็น) ได้
ค่าความดันเลือดที่เหมาะสม
การวัดความดันเลือดที่ถูกต้องมีความสำคัญต่อการวินิจฉัย เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง
“ความดันเลือด” เป็นแรงดันเลือดที่เกิดจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย มี 2 ค่า คือ ความดันตัวบน (Systolic pressure) แรงดันเลือดขณะหัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัว และความดันตัวล่าง (Diastolic pressure) แรงดันเลือดขณะหัวใจห้องซ้ายล่างคลายตัว
ความดันเลือดสูง (Hypertension) เป็นภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันเลือดสูงผิดปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หลายโรค
จุดมุ่งหมายในการวัดความดันเลือดเพื่อป้องกันโรคความดันเลือดสูง ลดอัตราการเกิดทุพพลภาพและเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่
ผู้ป่วยความดันเลือดสูงทั่วไป ควรมีค่าความดันเลือดต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท
ตัวบน 120-130 มิลลิเมตรปรอท ตัวล่าง 70-79 มม.ปรอท
วิธีการวัดความดันเลือดที่บ้าน
การรู้ค่าความดันเลือดตนเองมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคต มีข้อควรปฏิบัติก่อนวัดความดันเลือด ดังต่อไปนี้
1. ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที
2. ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
3. นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันเลือด
4. วัดความดันเลือดในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันเลือดสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
5. ขณะวัดความดันเลือดไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว
การวัดค่าความดันเลือดแต่ละครั้งควรใช้วิธีการวัดให้ถูกต้อง พร้อมจดบันทึกตัวเลขค่าความดันเลือดตัวบนและตัวล่าง รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจในสมุดประจำตัวผู้ป่วยความดันเลือดสูง และวัดค่าความดันเลือดอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
ช่วงเช้า วัดความดันเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1-2 นาที ภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนกินยาลดความดันเลือด
ช่วงก่อนเย็น วัดความดันเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1-2 นาที
ตัวเลข “ความดันเลือด” ที่ไม่ควรมองข้าม มีดังต่อไปนี้
(1.) 180/110 มม.ปรอท อันตราย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
(2.) 160/100 มม.ปรอท สูงมาก เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และเข้ารับการรักษา
(3.) 140/90 มม.ปรอท สูง ป่วยเป็นความดันเลือดสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษา
(4.) 130/80 มม.ปรอท เริ่มสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(5.) 120/80 มม.ปรอท ปกติ คุมอาหาร ออกกำลังกาย วัดความดันเลือดสม่ำเสมอ
(6.) น้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท เหมาะสม ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย วัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ
อาการของผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันเลือดสูงจะไม่แสดงอาการ แต่บางรายพบว่ามีอาการปวดหัว เวียนหัว มึนงง และเหนื่อยง่ายผิดปกติ ซึ่งหากมีภาวะความดันเลือดสูงนาน ๆ แต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลาย และเกิดภาวะแทรกซ้อน (จากความดันเลือดสูงโดยตรง และจากหลอดเลือดตีบหรือตัน)
ดังนั้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งที่ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงควรปฏิบัติทันที ได้แก่
1. ลดน้ำหนัก (มีน้ำหนักเกินเกณฑ์)
2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม (ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง)
3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ทั้งเหล้าและเบียร์)
4. งดสูบบุหรี่ (ทั้งสูบมือ 1 และ สูบมือ 2)
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน)
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง
การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งเรื่องการกินอาหารตามหลักโภชนาการ ออกกำลังกาย และวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี เช่น งดสูบบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ เป็นต้น สามารถช่วยป้องกันโรคความดันเลือดสูงและช่วยลดความดันเลือดได้
กรณีที่มีน้ำหนักตัวเกิน การลดน้ำหนักลงร้อยละ 5 ของน้ำหนักตั้งต้นขึ้นไปจะส่งผลให้ความดันเลือดลดลงเทียบเท่ากับยาลดความดันเลือด 1 ชนิด
ไม่แนะนำให้กินสมุนไพรใด ๆ รวมถึงโพแทสเซียม และ/หรือ แมกนีเซียม ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อหวังผลในการลดความดันโลหิต ยกเว้นเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
จำกัดโซเดียมในอาหารน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม เทียบเท่าเกลือแกง 1 ช้อนชา
โซเดียม คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย) ตลอดจนมีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหารบางอย่างที่ไตและลำไส้เล็ก หากได้รับโซเดียมมากเกินไปอาจทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น แต่การจำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถช่วยลดความดันเลือดได้
เคล็ดลับการจำกัดโซเดียม
1. ชิมอาหารก่อนปรุง (ร้านค้าบางแห่งปรุงอาหารรสจัด)
2. ใช้เครื่องเทศในการปรุงรสอาหาร เช่น มะนาว กระเทียม กะเพรา พริก ยี่หร่า ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพราะอาหารรสชาติอ่อนเค็มก็สามารถทำให้อร่อยได้ โดยอาจใช้รสเปรี้ยวหรือเผ็ดนำ
3. หากต้องการกินขนมขบเคี้ยว ควรเลือกที่มีส่วนประกอบของโซเดียมน้อยที่สุด โดยอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ
4. หากกินอาหารที่มีน้ำซุปเค็มมาก ควรรินน้ำซุปออกบางส่วน แล้วเติมน้ำเปล่าแทน จะช่วยลดปริมาณโซเดียม หรือกินแต่เนื้อเหลือน้ำเอาไว้ก็ได้
“ความดันเลือดสูง” คือ “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ที่รู้จักกันว่า NCDs มาจาก Non-Communicable Diseases ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ และไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้โดยตรง
“ต้นเหตุหลัก” ของโรคไม่ติดต่อเรื้องรังมาจาก “พฤติกรรมการดำเนินชีวิต” หรือที่แพทย์บางท่านใช้คำว่า “โรคหาเรื่องใส่ตัวเอง” ดังนั้น “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง และถ้ามีคนใกล้ตัวสนับสนุนจะได้ผลเร็วยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
18 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter