30 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

การศึกษาที่มาของดาวเคราะห์น้อย ประโยชน์ไม่ได้มีเพียงแค่การป้องกันการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติจากเหตุการณ์พุ่งชนครั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การไขปริศนาครั้งใหญ่เกี่ยวกับคุณสมบัติของจักรวาลในยุคแรก และปัจจัยที่นำไปสู่การกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก
Bennu ความเสี่ยงพุ่งชนโลกในศตวรรษหน้า
ดาวเคราะห์น้อย Bennu ถูกค้นพบในปี 1999 ตั้งชื่อนกในเทพปกรณัมอียิปต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์ การก่อกำเนิด และการเกิดใหม่
Bennu เป็นดาวเคราะห์น้อยชนิด C-type (โครงสร้างหลักเป็นคาร์บอน) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 490 เมตร ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 1.19 ปี
Bennu อยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์น้อย Apollo มีต้นกำเนิดจากแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี คาดว่าเริ่มโคจรมาใกล้โลกเมื่อ 1-2.5 ล้านปีที่แล้ว

โอกาส Bennu เฉียดโลกในปี 2060/2135
คาดว่า ดาวเคราะห์น้อย Bennu จะโคจรมาใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 กันยายน 2060 โดยจะอยู่ห่างจากโลกประมาณ 750,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 2 เท่าของระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์
และจะกลับมาโคจรใกล้กับโลกอีกครั้งในวันที่ 25 กันยายน 2135 คาดว่าจะอยู่ห่างจากพื้นโลกเพียง 203,000 กิโลเมตร
แม้จะไม่มีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย Bennu จะพุ่งชนโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่มีการตั้งสมมติฐานว่า การโคจรใกล้โลกในปี 2135 อาจทำให้ดาวเคราะห์น้อย Bennu หลุดเข้า Gravitational Keyhole ของโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ในอวกาศที่แรงโน้มถ่วงของโลกจะเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย และเพิ่มโอกาสการพุ่งชนโลกในวันที่ 24 กันยายน 2182
ตามสถิติพบว่า โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร พุ่งชนโลกจะมีขึ้นทุก ๆ 130,000 ปี
หากดาวเคราะห์น้อย Bennu พุ่งชนโลก จะก่อให้เกิดพลังงานเทียบเท่าระเบิด TNT จำนวน 1,200 ล้านตัน หรือรุนแรงกว่า Tsar Bomba ระเบิดนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในโลกประมาณ 22 เท่า
อย่างไรก็ดี แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์โดยทีมวิจัยของลอเรตตาและคณะในปี 2015 เชื่อว่า จุดจบของดาวเคราะห์น้อย Bennu มีหลายปัจจัยนอกเหนือจากการพุ่งชนโลก
โดยพบว่าในอีก 300 ล้านปีข้างหน้า มีโอกาส 48% ที่ Bennu จะพุ่งใส่ดวงอาทิตย์ และมีโอกาส 10% ที่จะถูกเหวี่ยงออกนอกระบบสุริยะชั้นในจากอิทธิพลแรงดึงดูดของดาวพฤหัสบดี
ส่วนดาวเคราะห์ที่มีโอกาสถูกดาวเคราะห์น้อย Bennu ชนมากที่สุดได้แก่ ดาวศุกร์ (26%) ตามด้วยโลก (10%) ดาวพุธ (3%) ดาวอังคาร (0.8%) และมีโอกาสกลับไปรวมตัวกับดาวพฤหัสบดีที่ 0.2%
ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2025 พบว่า ดาวเคราะห์น้อย Bennu คือดาวเคราะห์น้อยเพียง 2 ดวงที่ความเสี่ยงพุ่งชนโลกสูงกว่า -2 ตามมาตรวัดความเสี่ยงของ Palermo scale โดยมีความเสี่ยงปัจจุบันที่ −1.40
มาตรวัดความเสี่ยงของ Palermo scale กำหนดให้ดาวเคราะห์น้อยที่มีค่าความเสี่ยงระดับ 2 จะมีความเสี่ยงชนโลกสูงกว่าดาวเคราะห์น้อยที่มีค่าความเสี่ยงระดับ 0 ที่ 100 เท่า
ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่มีค่าความเสี่ยง -2 จะไม่มีโอกาสชนโลกเลย
ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่มีค่าความเสี่ยงระหว่าง -2 ถึง 0 ถือเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ต้องเฝ้าระวัง
ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อย Bennu
เมื่อปี 2016 องค์การ NASA ได้เริ่มภารกิจ OSIRIS-REx เพื่อส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย Bennu
โดยเริ่มส่งยานอวกาศออกนอกโลกเมื่อเดือนกันยายน 2016 เดินทางถึงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย Bennu ในเดือนธันวาคม 2018 และใช้เวลา 2 ปีในการโคจรรอบดาว Bennu เพื่อสำรวจจุดที่เหมาะสมที่จะลงจอดเพื่อเก็บตัวอย่างจากดาว Bennu
ยานอวกาศของภารกิจ OSIRIS-REx ลงจอดที่ดาว Bennu ในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 และเก็บตัวอย่างเพื่อเดินทางกลับโลกในเดือนพฤษภาคม 2021 ก่อนจะส่งตัวอย่างกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กันยายน 2023
รูปแบบการกำเนิดชีวิตจากตัวอย่างดาว Bennu
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2025 องค์การ NASA ได้เปิดเผยผลการสำรวจตัวอย่างที่ได้มาจากดาวเคราะห์น้อย Bennu โดยหลักฐานที่เป็นรูปแบบการกำเนิดชีวิตที่คล้ายกับโลก
ข้อมูลที่เผยแพร่ทางวารสาร Nature และ Nature Astronomy พบว่า หลักฐานที่นำกลับมาจากดาวเคราะห์น้อย Bennu มีส่วนประกอบของกรดอะมิโน 14 ชนิดจาก 20 ชนิดที่สิ่งมีชีวิตบนโลกใช้ในการสร้างโพรทีน
พบนิวคลีโอเบสหลักทั้ง 5 ตัว ได้แก่ อะดีนีน ไซโทซีน กวาซีน ไทมีน ยูเรซิล สารประกอบทางชีววิทยาที่จำเป็นต่อการสร้าง DNA และ RNA
ตัวอย่างที่พบยังประกอบไปด้วยสารแอมโมเนียและฟอร์มาลดีไฮด์ องค์ประกอบสำคัญของการสร้างกรดอะมิโน เช่นเดียวกับเกลือที่ทำให้เชื่อได้ว่าอาจจะเคยมีน้ำอยู่บนดาวเคราะห์น้อย Bennu มาก่อน
แม้ก่อนหน้านี้จะเคยพบรูปแบบการกำเนิดชีวิตจากตัวอย่างเทหวัตุนอกโลกที่ตกมายังโลก แต่ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อย Bennu ถือเป็นครั้งแรกที่วงการวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย โดยไม่มีการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมภายในโลกมาก่อน
ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย Bennu จึงเปรียบเสมือนไทม์แมชชีนที่ช่วยให้วงการวิทยาศาสตร์ย้อนเวลากลับไปดูวิวัฒนาการการกำเนิดสิ่งมีชีวิตในยุคเริ่มต้นของระบบสุริยะ
การพบรูปแบบการกำเนิดชีวิตจากดาวเคราะห์น้อย ยังสนับสนุนสมมติฐานจุดกำเนิดชีวิตบนโลกจากการพุ่งชนโดยดาวเคราะห์น้อย
ขณะเดียวกัน ก็นำไปสู่คำถามว่า ขณะที่การพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเกิดขึ้นทุกแห่งในระบบสุริยะ เหตุใดโลกจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวในระบบสุริยะที่พบหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.nasa.gov/news-release/nasas-asteroid-bennu-sample-reveals-mix-of-lifes-ingredients/
https://www.bbc.com/news/articles/c7vd1zjlr5lo
https://en.wikipedia.org/wiki/101955_Bennu
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter