ปักกิ่ง 2 พ.ค.- ในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน นักวิชาการจีนผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษาระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดความบาดหมางในระดับประชาชนไทย-จีน คือ การเรียนรู้ ลดความเป็นปฏิปักษ์ และคนจีนที่อาศัยในไทยควรเข้าใจบริบทของสังคมไทย
ศาสตราจารย์ไป๋ ชุน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศจีน แห่งคณะเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ ปักกิ่ง หรือ Beijing Foreign Studies University (BFSU) เผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ในยุคปัจจุบันมีมิติเพิ่มขึ้น จากในยุคก่อนเน้นที่มิตรภาพ และความเป็นมิตรระหว่างกัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม มีความโดดเด่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นมิติใหม่แห่งความสัมพันธ์ และสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีมิติหลากหลายมากขึ้น จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ 2 ประเทศมีความเหนียวแน่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ในอนาคตนับจากกึ่งศตวรรษความสัมพันธ์ทางการทูตไปแล้ว ก็มีความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดและความสัมพันธ์ในภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งปัญหาที่เกิดจากมายาคติ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ตลอดจนปัญหากดทับทางสังคมอันมีสาเหตุจากกลุ่มทุนจีนไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาความไม่โปร่งใส
ศาสตราจารย์ไป๋ ชุน ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะแก้ไข และคลี่คลายทัศนคติในทางลบระหว่างกันได้ คือ การพูดคุยทำความเข้าใจกันและกัน ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ต้องไม่สร้างความรู้สึกเป็นปรปักษ์ต่อกัน เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ความรู้สึกเป็นอคติต่อกันไม่เคยนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเป็นความสร้างสรรค์ แต่กลับจะยิ่งสร้างความเสียหาย และอาจเลวร้ายถึงขั้นเกิดหายนะ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ไป๋ ได้ยกกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เช่น ปัญหาจีนเทา และปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งคนจีนและคนไทยต่างไม่พอใจซึ่งกันและกัน ทั้งที่ต้นเหตุของปัญหาไม่ได้เกิดจากระดับประชาชนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเพราะอารมณ์และความรู้สึกถูกปลุกเร้าขึ้น จนเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งจะยิ่งนำไปสู่ความเสียหาย ดังนั้น แก่นสำคัญอย่างในหนึ่งในภาคประชาชนคือ ควรยึดหลักที่จะไม่ผูกอาฆาตกัน แต่ควรสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ในฐานะที่ศาสตราจารย์ทำงานล่ามแปลด้วย มีความเห็นว่า ล่ามและนักแปล ก็เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันได้ผ่านการแปล
พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ไป๋ ชุน ยังกล่าวว่า “การเรียนรู้” จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดมายาคติระหว่างกัน การเรียนรู้บริบทของสังคม รวมทั้งหล่อหลอมตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะช่วยให้ความบาดหมางระหว่างกันอันตรธานหายไป ทั้งยังกล่าวถึงคนจีนที่ใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทยว่า หากคิดแต่จะอยู่ในสังคมของตนเอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นชุมชนปิด ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ และไม่ผูกพันกับชุมชนและสังคมไทย ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ งอกงาม เรียกได้ว่า “มาไม่ถึงเมืองไทย” แต่หากหันมาสนใจชุมชน สังคม ภาษาและวัฒนธรรมของไทยในถิ่นที่อยู่ ก็จะทำให้คนจีนได้เข้าใจสังคมไทยอย่างแท้จริง.-810.-สำนักข่าวไทย