กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.68-33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยในระหว่างวันศุกร์ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามจังหวะการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ (28-29 ม.ค.) และท่าทีเพิ่มเติมจากประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.50-33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญประกอบด้วย ดัชนี PMI เดือน ม.ค. ของจีน และยอดขายบ้านใหม่เดือน ธ.ค. ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) และการประชุม ECB (30 ม.ค.) ในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่ประเมินไว้ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับในสัปดาห์นี้ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-34.05 บาท/ดอลลาร์ โดยควรเตรียมรับมือความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด และ ECB รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50% เฟดอาจรอจับตาการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่เชื่อว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด (เรายังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง หรือ 75bps)
ในขณะที่ คาด ECB ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.75% จากแนวโน้มการชะลอลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ท่ามกลางความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจ หากรัฐบาล Trump 2.0 เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า โดยผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 3 ครั้ง หรือ 75bps สู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะอยู่ที่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 รวมถึง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ที่สำรวจโดย ECB. -511-สำนักข่าวไทย