กทม. 18 พ.ย.- “นิกร” คาด กมธ.ร่วมฯ ได้ข้อสรุป พ.ร.บ.ประชามติพุธนี้ ชงทางออก 2 สภาพบกันครึ่งทาง ทําชั้นครึ่ง ป้องครหาความชอบธรรม ชี้ หากไม่ผ่าน ใช้กลไกสภาตั้งคําถามใหม่ได้ ไม่ได้ปิดประตูแก้ รธน. ยืนยัน “แสวง” ร่วมถก กมธ. โหวตผ่านไปรษณีย์
นายนิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่า ได้จัดวาระพิจารณาของการประชุม กมธ.ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เป็นการรับฟังประเด็นการออกเสียงประชามติระบบใหม่โดยการใช้ไปรษณีย์ ซึ่งมีผู้ตอบรับมาชี้แจงคือนายรัฐพล ภัคดีภูมิ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และคณะ กับฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. มาชี้แจงในประเด็นดังกล่าวด้วย
นายนิกร กล่าวต่อว่า จากนั้นก็จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติต่อ ด้วยการขอฟังความเห็นจาก กมธ.ที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นเป็นรายบุคคล ซึ่งเหลืออีกไม่กี่คน และจะถึงขั้นตอนการตัดสินใจของ กมธ. ซึ่งเชื่อว่าจะมีการลงมติว่าจะยืนตามร่างที่วุฒิสภาเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบประชามติสองชั้น หรือแก้ไขกลับไปเป็นแบบชั้นเดียวตามร่างเดิมของ ส.ส. หรือจะมีการแก้ไขเป็นแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ แต่เชื่อว่าการพิจารณาน่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะใช้เวลาจัดทำรายงานเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของทั้งสองสภาต่อไป ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันตอนสภาเปิดการประชุมในกลางเดือนธันวาคมนี้อย่างแน่นอน
นายนิกร กล่าวว่า ตนอยากให้มีการประนีประนอม จึงจะเสนออีกทางเลือกให้ กมธ. คือการทําประชามติชั้นครึ่ง ลดจากสองชั้นของ ส.ว. และเพิ่มจากชั้นเดียวของ ส.ส. เพื่อพบกันตรงกลางเป็นทางออก จะได้ไม่มีปัญหาขัดแย้ง จนทั้งสองสภาต้องหักความเห็นที่ต่างฝ่ายมีเหตุผล แต่คนละมุมมองกัน
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ตนเสนอเพิ่มเป็นชั้นครึ่ง เพราะมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากระบบการออกเสียงประขามติ มีการปรับปรุงให้ประชาชนเข้าถึงง่ายแล้ว เพราะฉะนั้น เชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง
นายนิกร กล่าวว่า หากไม่มีเกณฑ์ขั้นตํ่าในการออกมาใช้สิทธิ์ ใช้เสียงตัดสินเท่าไหร่ก็ได้ ก็อาจถูกโต้แย้งได้ว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะฉะนั้น ตนจึงเสนอให้ยังคงชั้นบนไว้ คือต้องออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด แต่ตัดชั้นล่างที่กำหนดว่าต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมดออก จึงถือเป็นเหลือแค่ชั้นครึ่งก็เพียงพอ ซึ่งหลักการนี้เป็นร่างที่คณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เคยแนบเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตอนแรกเมื่อเดือนเมษายนมาก่อนแล้ว
นายนิกร กล่าวอีกว่า แม้ที่สุดแล้วหากมีปัญหาไม่ผ่านด้วยเหตุผลใดเป็นพิเศษ ก็สามารถทําซํ้าเพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้อีกในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลย โดยใช้กลไกสภาตั้งคําถามประชามติใหม่ได้ และที่สำคัญ ระบบการออกเสียงประชามติใหม่นี้ เชื่อว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย .314.-สำนักข่าวไทย