กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการมองว่า เป็นตัวเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางออกที่จะช่วยให้ปัญหาเบาลงได้ นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังเกิดปรากฏการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ขณะที่บรรดาพรรคการเมือง เริ่มออกมาตอบรับในแนวทางเดียวกัน ว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
นักวิชาการมองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ก่อตัวตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ และกลายเป็นตัวเร่งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเร็วขึ้น
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมี ส.ส.ร.แล้ว ทุกฝ่ายควรหยุดชุมนุมเรียกร้อง และไม่ควรตั้งประเด็นที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทั้งหมดสามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนในเวที ส.ส.ร.
ส่วนทางออกประเทศ คือ ทุกคนต้องเปิดใจรับว่า เป็นไปไม่ได้ในภาวะของการเผชิญหน้ากัน ที่ทุกคนจะได้ตามข้อเรียกร้องทั้งหมด เพียงแต่ต้องหาจุดร่วม
หากการร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผ่านการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ยอมถอยคนละก้าวในบางเรื่อง เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ปัญหาที่ถกเถียงจะลดน้อยและหมดไป เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้ได้อย่างยาวนาน และปรับแก้บางส่วนให้เข้ากับยุคสมัย. – สำนักข่าวไทย