กทม. 22 ก.ย.-เสียงสะท้อนจากแพทย์ นโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ดีกับประชาชน ตอบโจทย์การให้บริการจริงหรือ?
นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ม.วิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการวิทยุ สำนักข่าวไทย สะท้อนมุมมองที่มีต่อนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า บัตรทองเป็นเรื่องดีสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย การยกระดับมาตรฐานบัตรทองให้สูงขึ้นถือเป็นสิ่งที่ดี
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลชุดที่แล้วก็มีนโยบายการยกระดับบัตรทอง คือโครงการผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ หรือ Cancer Anywhere ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันที การที่ผู้ป่วยต้องรอการรักษาจากโรงพยาบาลที่เราใช้สิทธิ์อยู่ อาจจะไม่ทันเวลา และโครงการนี้มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลต้นทาง และปลายทางอย่างชัดเจน
มาถึงรัฐบาลชุดนี้ประกาศนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยต้องการ หากมองดูแบบยังไม่ลงลึกรายละเอียดถือเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ป่วย เพราะได้รับความสะดวกสบาย สามารถรักษาที่ไหนก็ได้ แต่อาจจะมีผลกระทบตามมา เช่น บางครั้งเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นอะไร ความรุนแรงของโรคระดับไหน ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนแค่ไหน และหากผู้ป่วยต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยไม่เลือกรับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน อาจทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้าไป และอาจไปสร้างความแออัดให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานเพิ่มขึ้น เพราะการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยไม่ได้นำข้อมูลจากโรงพยาบาลต้นทางมาด้วย
นพ.สมศักดิ์ มองว่าหากจะทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การสร้างความรู้ให้ประชาชนว่าโรคส่วนใหญ่ 80-90% สามารถรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ มีเพียงบางโรคเท่านั้นที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ข้อที่ 2 ควรเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ในเขตจังหวัด หรือในเขตสุขภาพอย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น แพทย์สามารถเข้าไปดูข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ในเขตจังหวัด หรือ เขตพื้นที่สุขภาพ เดี่ยวกันได้ รวมถึงหากเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กับโรงเรียนแพทย์ได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
และข้อที่ 3 จะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่า หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เกินความสามารถของโรงพยาบาลต้นทางจะรักษาได้ จะต้องมีระบบส่งต่อ และยืนยันว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงทันที ซึ่งสิ่งนี้เป็นการตอบโจทย์ผู้ป่วยมากกว่า โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ระบบจะถูกส่งต่อโดยอัตโนมัติพร้อมข้อมูลทางการแพทย์ ประวัติการรักษา และนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลจาก สปสช. จะระบุว่า มีผู้ป่วยเพียง 5%เท่านั้น ที่ต้องการเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ แต่ นพ.สมศักดิ์ มองว่า หากมีการเปิดใช้ระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่อย่างจริงจังจะเกิดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใกล้บ้านไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้นโดยไม่จำเป็น เกิดการรักษาที่ซ้ำซ้อน ต้องเริ่มนับหนึ่งในการรักษาใหม่ เกิดความไม่ต่อเนื่องในการรักษา และเป็นการสิ้นเปลือง.-สำนักข่าวไทย