อุทัยธานี 24 ส.ค. – สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งเผยภาพน่ารักๆ ของ “น้องกกหนึ่ง” นกกกที่ถูกพรากแม่ ซึ่งทางสถานีเลี้ยงมา 4 ปีแล้ว น้องกกหนึ่งโชว์ลีลารับผลไม้เข้าปาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ “นกกก” ซึ่งเป็นจำพวกนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า ได้บันทึกภาพของ “น้องกกหนึ่ง” นกกกเพศผู้ซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยเป็นสัตว์ป่าของกลางเเละสัตว์ป่ากรณีเเก้ไขปัญหา/สัตว์ป่าพลัดหลง ที่ถูกพรานลักลอบล้วงออกจากโพรงรัง มาเสนอขายในตลาดมืด ตั้งเเต่ยังเป็นลูกนก เมื่อพลเมืองดีเเจ้งเบาะเเสให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชไปจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ จึงส่งลูกนกให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งรับตัวมาเลี้ยงต่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าประคบประหงมป้อนอาหารเลี้ยงดูจนสุขภาพสมบูรณ์ เเข็งเเรง จนกระทั่ง “น้องกกหนึ่ง” อายุได้ประมาณ 6 เดือน ได้ปล่อยให้ใช้ชีวิตอิสระ จนตอนนี้อายุ 4 ปีเเล้ว น้องกกหนึ่งมีนิสัยขี้อ้อน แม้จะบินออกไปหากินในป่าได้เอง แต่ยังกลับมาอ้อนขออาหารและผลไม้จากเจ้าหน้าที่ตลอด โดยวันนี้ “น้องกกหนึ่ง” โชว์ลีลารับผลไม้จากเจ้าหน้าที่อย่างแม่นยำ
อีกตัวคือ “น้องซาฟี่” เป็นเพศเมียซึ่งมาอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเนื่องจากเป็นสัตว์ป่ากรณีเเก้ไขปัญหา/สัตว์ป่าพลัดหลงเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน “กกหนึ่งและซาฟี่” เริ่มเข้าคู่กัน ช่วงเช้าจะมารอพี่ๆ เจ้าหน้าที่จัดเตรียมอาหารให้กิน ที่หน้าโรงเตรียมอาหารสัตว์ป่าได้แก่ ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป จิ้งหรีด เนื้อสัตว์บ้างบางมื้อ หลังจากอิ่มเเล้ว จะบินไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อาบเเดด อาบน้ำฝน รวมถึงหาผลไม้ป่ากินเช่น ลูกมะเม่า ลูกเถาคัน ลูกหว้า ลูกองุ่นป่า ลูกไทร หรือบางครั้งจับสัตว์ขนาดเล็กกินบ้างเช่น ตุ๊กแก กิ้งก่า งู ตกบ่ายจะเเวะมาที่โรงเตรียมอาหารอีกครั้ง รอกินอาหารที่พี่ๆ จัดเตรียมให้ พอพลบค่ำก็จะบินขึ้นนอนบนยอดไม้สูง
สำหรับ “นกกก” (นกกาฮัง นกกะวะ หรือนกอีฮาก) มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดถึงพม่า ไทย และเกาะสุมาตรา สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกนกเงือกของไทย โดยมีขนาดลำตัว 122 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และต่างกันตรงที่ตัวผู้มีตาสีแดงทับทิม โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น เมื่อนกตายลงสีนี้จะหายไปด้วย
ฤดูกาลผสมพันธุ์คือ ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน ซึ่งจะวางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วทำการตบแต่งโพรงก่อน ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมียของมัน โดยจะจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต
นกกกอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ที่มีต้นไม้สูงๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็กๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ชอบกระโดด และร้องเสียงดัง ซึ่งเสียงอาจฟังได้ความว่า “กก กก หรือ กาฮัง กาฮัง” ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า บริเวณต้นที่มีผลสุกชนิดที่ชอบ มันจะมากินทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหากินที่ต้นอื่น
อาหารประจำของนกกกคือ ผลไม้ต่างๆ และสัตว์เล็กๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู โดยเอาหางจับฟาดกับกิ่งไม้ให้ตายก่อน แล้วเอาปากงับตลอดตัวให้เนื้อนิ่มกระดูกแตก แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากรับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วกลืนลงไป เมื่อกินผลไม้ แล้วตลอดเส้นทางบิน จะถ่ายมูล แล้วเมล็ดสามารถงอกเป็นต้นขึ้นใหม่ จึงมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ามาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจึงรณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์นกกกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากพบการค้าสัตว์ป่า สัตว์ป่าพลัดหลง บาดเจ็บ หรือถูกทอดทิ้ง แจ้ง “สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362” . – สำนักข่าวไทย