กรุงเทพฯ 11 ก.พ. – เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ติดตามพิกัดของเสือโคร่งห้วยขาแข้งที่จับปล่อยคืนป่าลึกวานนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปลอกคอติดตามตัวที่สวมให้เสือสามารถรายงานข้อมูลได้ตามเวลาจริง หากพบออกมาใกล้ชุมชน จะส่งชุดเจ้าหน้าที่ผลักดัน เพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านและสัตว์เลี้ยง
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า เสือโคร่งที่ออกมาทำร้ายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน รวมทั้งคำรามขู่พระสงฆ์ขณะบิณฑบาตในต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานีเป็นเสือตัวผู้ อายุประมาณ 8-9 ปี น้ำหนัก 120 กิโลกรัม จากข้อมูลการวิจัยทราบว่า พื้นที่หากินของเสือในป่าแถบนี้กินพื้นที่ราว 200 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมป่าเวิ้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตีนเขานางรำ เสือตัวนี้อายุมากและขาขวาหลังด้วนตั้งแต่ข้อเท้าลงไป ทำให้เสือโคร่งตัวผู้ที่กำยำและหนุ่มกว่าเข้ามาช่วงชิงพื้นที่หากินทั้งทางด้านใต้และด้านเหนือ เป็นเหตุให้มันต้องหาแหล่งหากินใหม่ จึงออกมายังชุมชน แต่ขณะนี้จับแล้วนำมาปล่อยคืนสู่ป่าลึกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อมสวมปลอกคอติดตามตัว (GPS Collar) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทราบพิกัดที่เสืออยู่ตามเวลาจริง หากมีแนวโน้มว่า ออกมาใกล้ชุมชนจะจัดชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปผลักดันให้กลับไปอยู่ในป่าลึกทันที
นายธนิตย์กล่าวต่อว่า ชาวบ้านในต. ระบำต่างมั่นใจในความปลอดภัยแล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและ ฝ่ายปกครองร่วมกันจับเสือตัวนี้ซึ่งออกมาจากป่าตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม สร้างความเดือดร้อนและทำร้ายสัตว์เลี้ยง เช่น วัว แพะ เป็ด ของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการผลักดันให้เสือกลับเข้าป่าอย่างต่อเนื่อง จนเสือมีภาวะเครียด ต่อมาออกมาคำรามขู่พระสงฆ์ขณะบิณฑบาต ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ล่าสุดคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ได้ออกมากัดวัวตายอีก 2 ตัว เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจวางแผนจับเสือให้ได้ภายในวานนี้ (10 กุมภาพันธ์) โดยชุดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาเฝ้าคอกสัตว์เลี้ยงที่กระจายอยู่ในชุมชน 25 คอก คอกละ 3 คนเพื่อไม่ให้เสือเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยง เตรียมปืนยิงยาสลบไว้ 4 ชุด
ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการฯ และเจ้าหน้าที่ ได้เดินแกะรอยเสืออย่างต่อเนื่อง จนพบว่า เสือมาหลบร้อน ซ่อนตัวอยู่ในท่อระบายน้ำข้ามถนน ใกล้กับสถานีไฟป่าห้วยขาแข้ง จึงได้จัดชุดซุ่มดักยิงยาสลบ ทั้ง 2 ข้าง แต่เสือโคร่งไม่ยอมออกมา จึงได้ใช้ฟางจุดสุมไฟ เพื่อให้ควันไฟไล่ให้เสือออกมา เมื่อเสือหนีควันไฟออกมาภายนอกจึงถูกลูกดอกยาสลบ แล้ววิ่งหนีเข้าป่าไป แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจว่า เสือตัวนี้จะหมดแรงและสลบใน 15 นาที จึงเดินตาม พบเสือนอนสลบอยู่ห่างจากจุดที่ยิงลูกดอกยาสลบประมาณ 500 เมตร
นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษฯ พร้อมทีมสัตวแพทย์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสัตวบาล ช่วยกันพยาบาล สร้างความอบอุ่น พัดลมช่วยระบายอากาศ และฉีดยาบำรุง พร้อมทำแผลให้กับเสือ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำเสือเข้ากรง แล้วขนย้ายไปปล่อยกลางป่า โดยนำซากวัวที่เสือล่าไว้ เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ติดรถไปด้วย 1 ตัวเพื่อให้เสือได้กินเป็นอาหาร
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เข้าไปหารือพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อเยียวยาเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่โดนเสือทำร้ายตามความเหมาะสมโดยเร็ว . – สำนักข่าวไทย