กรุงเทพฯ 7 ต.ค. – กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุจากนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นปลายฤดูฝนของประเทศไทยตอนบน ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุใกล้ประเทศไทย ชี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจมีพายุลูกใหม่ก่อตัวขึ้น แต่คาดเส้นทางการเคลื่อนตัวจะไปทางประเทศญี่ปุ่น
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากวันนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคมยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุในทะเลจีนใต้ โดยปัจจุบันใกล้สิ้นสุดฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนและคาดว่า จะเข้าสู่ฤดูหนาวในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม มวลอากาศเย็นจากจีนเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมแล้ว ฝนจะค่อยๆ ลดลง อาจมีฝนและฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่จากแนวปะทะของมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมากับมวลอากาศที่อุ่นกว่า
ทั้งในสถิติการเกิดพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 27 ลูก เกิดขึ้นแล้ว 18 ลูก สำหรับสถิติของพายุที่มีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยปี 1 – 2 ลูก ขณะนี้เข้ามาแล้ว 1 ลูกคือ พายุซูลิก ดังนั้นพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เหลืออีก 9 ลูก หากจะเข้าสู่ประเทศไทยจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวจากตะวันออกไปตะวันตก โดยเข้าสู่ภาคใต้ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคมซึ่งเป็นฤดูฝนของภาคใต้ ส่วนทางตอนบนเชื่อว่า จะไม่มีพายุเข้ามาและเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่แล้ว
นายสมควร กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงวันที่ 8 – 9 ตุลาคม 2567 ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยเนื่องจากมวลอากาศเย็นเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคใต้ คลื่นลมแรงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนตอนบนของประเทศฝนลดลง แต่ด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลางได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี อุทัยธานี และราชบุรียังมีฝนและฝนฟ้าคะนองจึงยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนสะสม ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ในตอนเช้าๆ อากาศเย็นเริ่มเย็น จากนั้นระหว่างวันที่ 10 – 16 ตุลาคม 2567 มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง จึงทำให้ลมที่พัดปกคลุมมีทิศทางแปรปรวน ฝนจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยยังเกิดขึ้นได้บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล รวมถึงภาคใต้
ในอีก 2 วันข้างหน้า หย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจพัฒนาเป็นพายุ แต่มีทิศทางเคลื่อนไปยังประเทศญี่ปุ่น.- 512 – สำนักข่าวไทย