ฉะเชิงเทรา 16 ม.ค. – สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ติดตามช้างป่า 2 ตัว ที่มีอาการบาดเจ็บและหลบอยู่บริเวณป่ายูคาลิปตัสใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา โดยตัวหนึ่งมีก้อนเนื้ออยู่ท้ายลำตัว ส่วนอีกตัวหนึ่งเดินผิดปกติ จำเป็นต้องยิงยาซึมเพื่อให้สามารถเข้าประเมินอาการและรักษาได้ ล่าสุดระดมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เข้ามาเสริมและกำลังวางแผนเข้าถึงตัวช้างป่าอย่างรอบคอบที่สุด
นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) (ศรีราชา) กล่าวว่า ได้ส่งทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 2 ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าติดตามอาการช้างป่าบาดเจ็บ 2 ตัวซึ่งได้รับรายงานจากชาวบ้านว่า พบช้างเข้ามาอยู่บริเวณป่าหลังวัดอ่างเตย ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา
ล่าสุดได้รับรายงานจากนายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒว่า จากการตรวจสอบอาการบาดเจ็บของช้างป่าในระยะไกลและใช้โดรนบินสำรวจ พบว่า ช้างป่าตัวที่ 1 มีลักษณะคล้ายก้อนเนื้ออยู่ที่บริเวณท้ายลำตัว อาจเป็นลำไส้หรือมดลูกที่ออกมาทางทวารหนัก ส่วนตัวที่ 2 มีลักษณะการบาดเจ็บที่บริเวณขาหน้าทำให้การเดินผิดปกติ ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้อาศัยและหากินในพื้นที่คู่กันในป่าไม้ยูคาลิปตัส
สำหรับบริเวณพื้นที่ที่ช้างป่าอาศัยอยู่ซึ่งเป็นป่าไม้ยูคาลิปตัสติดกับพื้นที่ป่าต้นปาล์ม มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ทำให้มีความยากลำบากในการติดตามช้าง หากสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่เข้าใกล้ ช้างอาจมองเห็นหรือรู้ตัว แล้วตกใจหนีเข้าป่าลึกทำให้ยากต่อการติดตามรักษาหรืออาจพุ่งเข้าใส่จนทำให้เกิดอันตรายต่อสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้ แต่ยังคงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามอย่างต่อเนื่องทั้งจากการติดตามร่องรอยการเดินทางและใช้โดรนบินตรวจสอบ หากพบบริเวณที่เหมาะสม สัตวแพทย์จะยิงยาซึมเพื่อให้สามารถเข้าประเมินอาการและรักษาได้
นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒกล่าวว่า การเข้ายิงยาซึม ต้องเข้าใกล้ในระยะ 50 เมตรซึ่งเป็นระยะประชิดมาก แต่บริเวณที่ช้างอยู่เป็นป่าโปร่ง ช้างอาจรู้ตัว แล้วหนีเข้าป่าลึกไปก่อน หรืออาจเข้าชาร์จเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้หลังยิงยาซึมเพื่อให้ช้างหยุดนิ่ง ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ยาจึงจะออกฤทธิ์ ช้างอาจเดินไปยังแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เสี่ยงจมน้ำได้
ขณะนี้กำลังวางแผนการเข้าตรวจประเมินอาการและรักษา โดยกำหนดแผนไว้ 2 แนวทางคือ ยิงยาซึมทั้ง 2 ตัวหรือยิงทีละตัว แล้วให้เจ้าหน้าที่ติดตามอีกตัวหนึ่งเพื่อทราบตำแหน่งในการรักษาต่อไป โดยได้ประสานขอสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่มาเสริม คาดว่า จะใช้ประมาณ 20-30 คนในการปฏิบัติงานครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่า จะวางแผนและปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบที่สุดเพื่อความปลอดภัยทั้งของคนและช้าง.-สำนักข่าวไทย