กรุงเทพฯ 8 มี.ค.- “รังสิมันต์ โรม” ยื่น ก.ต.ตรวจสอบปมเพิกถอนหมายจับ ส.ว.คนดัง โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย้ำความยุติธรรมต้องเสมอภาคและเท่าเทียม
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. เพื่อให้ตรวจสอบอธิบดีผู้พิพากษาฯ รองอธิบดีผู้พิพากษาฯ และผู้พิพากษา ที่นั่งบัลลังก์พิจารณาเพิกถอนหมายจับสมาชิกวุฒิสภาคนดังที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการอภิปรายทั่วไป 152 โดยในรอบนี้ตนเองทำตามระเบียบและพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรม มันจะเป็นไปซึ่งประโยชน์จริงๆ อย่างที่ทุกคนทราบว่า ตนเองมีการอภิปราย 152 ข้อมูลหนึ่งที่ตนเองเปิดเผยออกมาคือ ส.ว.ทรงเอ ซึ่งเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือ บช.ปส. ที่รับผิดชอบคดีนี้ มายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ หลังจากมาขอออกหมายจับ ในช่วงเช้าของเดือนตุลาคม 2565 ศาลอนุมัติหมายจับแล้ว แต่ปรากฏว่าในช่วงบ่ายของวันเดียวกันมีการยกเลิกหมายจับดังกล่าว โดยสาเหตุสำคัญที่ปรากฏในคำอธิบายของผู้พิพากษา ที่ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาและมีการเขียนไว้ในคำสั่งเพิกถอนหมายจับ ว่าได้รับฟังคำแนะนำจากอธิบดีผู้พิพากษาฯ ว่า บุคคลที่ถูกออกหมายจับ หรือ ส.ว.ทรงเอ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และศาลไม่ทราบมาก่อนว่าพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องเพื่อออกหมายจับบุคคลดังกล่าว จึงขอให้มีการถอนหมายจับ และขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกก่อน
หากพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีที่มีอัตราโทษสูง ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการฟอกเงิน โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกหมายเรียกก่อน สามารถที่จะดำเนินการออกหมายจับได้เลย และในชั้นต้นเดิมทีศาลก็คงจะเห็นด้วยว่า จึงออกหมายจับให้ แต่ปัญหาในระบบกฎหมายของไทยไม่ได้แบ่งแยกว่าการปฏิบัติกับวุฒิสมาชิก กับการปฏิบัติกับบุคคลธรรมดา ต้องมีความแตกต่างกัน เพราะหลักการของกฎหมายทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้น ทุกคนจึงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การไปขอถอนหมายจับแบบนี้ อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม หรือความถูกต้องในเรื่องความชอบเรื่องกฎหมาย หลักปฏิบัติของผู้พิพากษา ซึ่งบุคคลที่ตนเองจะยื่นเป็นข้อมูลและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มี 3 ท่าน ประกอบด้วย อธิบดีผู้พิพากษาฯ รองอธิบดีผู้พิพากษาฯ และผู้พิพากษา ที่นั่งบัลลังก์ในวันดังกล่าว โดยนำหลักฐานเป็นเอกสารต่างๆ ที่หวังว่าจะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อขอให้มีการตรวจสอบต่อไป และหวังว่าถ้ามีการตรวจสอบเรื่องนี้ จะสร้างความเป็นธรรม และความยุติธรรมให้กับคดีนี้ได้
สำหรับคดีนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ บช.ปส. เท่าที่ตนเองตรวจสอบข้อมูลล่าสุด ก็ยังไม่มีการออกหมายเรียก ส.ว.คนดังกล่าว ไปสอบถามข้อมูลที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด เนื่องจากศาลเขียนในกระบวนพิจารณาว่า ให้พนักงานสอบสวน บช.ปส.ออกหมายเรียกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการไปยื่นคำร้องขอออกหมายจับ คือ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2565 ที่ผ่านมา และภายหลังจากเปิดสมัยประชุมวุฒิสภา ก็จะมีในเรื่องเอกสิทธิ์ ส.ว.คุ้มครอง ที่จะเกิดขึ้นตามมา การที่จะไปออกหมายเรียก หรือหมายจับ ในช่วงสมัยประชุมวุฒิสภา ไม่สามารถทำได้ และสุดท้ายกลายเป็นว่า คดีทุน มิน หลัด ก็ต้องฟ้องแยกกันไป ไม่มี ส.ว.ทรงเอ อยู่ในคดีนั้นด้วย หมายความว่าหลังจากนี้ก็จะมีการฟ้องกันต่อ และอาจจะแยกเป็น 2 สำนวน แล้วอาจจะไปรวมกันเป็นคดีในทีหลัง ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่สามารถทำได้อยู่แล้ว
ยืนยันสิ่งที่ต้องการเห็นจากการยื่นตรวจสอบผู้พิพากษา ในครั้งนี้ เพราะต้องการเห็นความยุติธรรม ซึ่งหน้าที่ของตนเอง เมื่อรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น และไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่ตนเองทำได้ก็คือ แจ้งเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจสอบ เพราะส่วนตัวไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซง หรือสั่งการให้เกิดผลอย่างใด อย่างหนึ่งได้ แต่เป็นข้อมูลหลักฐานสำคัญที่ตนเองคิดว่า ถ้าตนเองไม่แจ้งข้อมูล ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบบนี้ ดังนั้น เมื่อตนเอง รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เหล่านี้ ก็เอามายื่นต่อองค์กรที่เขามีอำนาจหน้าที่
ทั้งนี้ หลังนายรังสิมันต์ โรม เข้าไปยื่นหนังสือคำร้องดังกล่าวแล้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ไปยื่นเอกสารที่งานสารบรรณ ชั้น 3 จากนี้ก็ต้องเป็นขั้นตอนการตรวจสอบของทางฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเองจะติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบ.-สำนักข่าวไทย